ปรากฏการณ์สำคัญของฮิปปี้ ของ ฮิปปี้

SUMMER OF LOVE (1967)

ในช่วงฤดูร้อนปีค.ศ. 1967 เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าจดจำครั้งหนึ่งเมื่อผู้คนเกินแสนคนเดินทางมาสู่ถนนไฮต์-แอสบิวรี (Haight-Ashbury) ในซานฟรานซิสโก (San francisco) ซึ่งในช่วงเวลานั้นกระแสฮิปปี้กำลังเป็นที่นิยมในหลาย ๆ แห่งทั่วอเมริกา และ ในยุโรป แต่แหล่งใหญ่ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลาง และ เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมฮิปปี้อยู่ที่ย่าน ไฮต์-แอสบิวรี ในซานฟรานซิสโก ซึ่งในฤดูร้อนนี้กลายเหตุการณ์สำคัญที่สรุปความเป็นฮิปปี้ได้อย่างดี เกิดการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดประสงค์หลักคือการเผยแพร่แบ่งปันมิตรภาพ ความรัก อุดมคติในการใช้ชีวิต  และ อาจจะเป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวออกมาแสดงพลังทางสังคมครั้งใหญ่ที่เป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด

ในวันที่ 14 มกราคม 1967 ได้มีการจัดนิทรรศการ “Human Be-In” ซึ่งถูกจัดขึ้นโดย Michael Bowen โดยมีการรวบรวมพวกฮิปปี้ถึง 20,000 คน ในสวน Golden Gate ของ San francisco โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมฮิปปี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อ 26 มีนาคม 1967 ศิลปินอย่าง Lou Reed กับ ดารานางแบบ Edie Sedgwick และพวกฮิปปี้อีกประมาณ 10,000 คน ได้มารวมตัวกันที่แมนฮัตตัน (Manhattan) เพื่อเดินทางเข้าสู่ Central Park Be-In ในวัน อีสเตอร์ (Easter)

ในวันที่ 16 มิถุนายน 1967 - 18 มิถุนายน 1967 ได้มีการจัดเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ที่มีระยะเวลาถึงสามวันที่ชื่อว่า “Monterey International Pop Music Festival” ในเมือง Monterey, California มีผู้คนเข้ามามากมายทั้งคนที่อยู่ที่ในงานและรอบบริเวณเทศกาลประมาณ 25,000-90,000 คน เทศกาลนี้กลายเป็นเทศกาลดนตรีที่น่าจดจำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา โดยมีศิลปินอย่าง Jimi Hendrix , The Who และ Ravi Shankar เข้าร่วมอยู่ด้วย เทศกาลดนตรีครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในจุดจุดเริ่มต้นของ “Summer Of Love” และ ยังเป็นต้นแบบของเทศกาลที่ยิ่งใหญ่อย่าง “Wood Stock” อีกด้วย

ย่านไฮต์-แอสบิวรี (Haight-Ashbury) ในซานฟรานซิสโก (San francisco) กลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักศึกษาที่สนใจในศิลปะไซเคเดลิก (psychedelic) จาก San Francisco State College ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น San Francisco State University วัยรุ่นหลายคนในกลุ่มนั้นยอมที่จะลาออกจากการเป็นนักศึกษาเพื่อออกไปหาประสบการณ์จริงกับวงดนตรี และ การใช้ชีวิตภายใต้อุดมคติของตน โดยได้ยึดเอาอพาร์ทเมนต์สไตล์วิกตอเรียนในย่านถนนไฮต์เป็นที่พำนัก

 ปรัชญาการแบ่งปันของพวกฮิปปี้ได้รับการยอมรับและได้ขยับขยายกลายเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มผู้ก่อตั้งโรงละคร Diggers ได้แจกอาหารฟรี และ เปิดโรงละครให้เป็นที่พักอาศัยแก่เหล่าผู้คนที่เข้ามาในย่านไฮท์-แอสบิวรี่ กลุ่มทางการแพทย์ก็เปิดคลินิกให้รักษาฟรี และ ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือการได้เสพย์สิ่งเสพติดทั้ง กัญชา LSD ที่ทำให้รู้สึกเคลิ้บเคลิ้ม สิ่งเหล่านี้ทำให้ชื่อเสียงของย่านไฮท์-แอสบิวรี่ (Haight-Ashbury)  เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

WOODSTOCK (1969)

วูดสต็อก หรือ เทศกาลดนตรีและศิลปะวูดสต็อก (Woodstock Music & Art Fair) เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะที่จัดขึ้นในวันที่ 15-18 สิงหาคม ค.ศ. 1969 ในช่วงระยะเวลา 3 วัน 3 คืน มีคนเข้าร่วมเทศกาลนี้อย่างมหาศาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี มีการจัดให้เทศกาลนี้ให้อยู่ใน 50 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ Rock & Roll โดยนิตยสาร Rolling Stone โดยมีคำขวัญในงานว่า “An Aquarian Exposition: 3 Days of Peace & Music” โดยชื่อของงานนั้นมาจากชื่อเมืองวูดสต็อก รัฐนิวยอร์ก (New York) ที่อยู่ห่างออกไป 69 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาด้านศิลปะมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นที่พักอาศัยของศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น บ๊อบ ไดแลน (Bob Dylan), จอห์นนี แคช (Johny Cash) และ จิมิ เฮนดริก (Jimi Hendrix)

งานถูกจัดขึ้นที่ไร่ของนาย แมกซ์ ยาสเกอร์ (Max Yasgur) เกษตรกรเจ้าของพื้นที่เลี้ยงโคนม 600 เอเคอร์ ใกล้กับเมืองเบเธล (Bethel) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาได้อนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ตนี้ในที่ดินของเขา มีการประเมินกันว่าคอนเสิร์ตนี้มีคนมาร่วมงานอย่างน้อย 3 แสนคน บางสื่อรายงานว่ามีคนเข้าร่วมงานนี้ถึง 5 แสนคน จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

แม้ในช่วงเวลาที่จัดเทศกาลนี้จะมีฝนตกลงมาอยู่ตลอด ทำให้เกือบทั่วทั้งพื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยโคลน แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังต้องการเข้าร่วมเทศกาลนี้ โดยก่อนเริ่มงานมีการจำหน่ายตั๋วเข้าชมออกไปกว่า 186,000 ใบ คณะผู้จัดงานมีการคาดการณ์กันว่าจะมีคนมาร่วมงานประมาณ 2 แสนคน แต่เมื่อถึงวันจริงมีผู้มารอชมคอนเสิร์ตเกินไปจากที่คาดไว้มาก ทำให้ในที่สุดคณะผู้จัดงานได้เปิดให้เข้าชมฟรี และเมื่อคนทั่วไปรับรู้ว่าคอนเสิร์ตนี้เข้าชมฟรี ทำให้มีคนหลั่งไหลกันเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้นจนเต็มพื้นที่ กล่าวกันว่าการจราจรบนถนนที่มุ่งหน้ามาสู่พื้นที่นี้ติดขัดยาวถึง 13 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมงานเรียกกันเองว่า 'Woodstock Nation' ซึ่งเป็นเสมือนความ Cool หรือ Hip แห่งยุคสมัย Woodstock Nation กว่าครึ่งล้านรวมตัวกันเพื่อเข้ามาชมดนตรีจากศิลปิน 32 ดัง อาทิ โจน เบซ (Joan Baez), วง Sha-Na-Na, เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน (Jefferson Airplane) และปิดฉากเทศกาลดนตรีวูดสต็อกโดยการแสดงของ จิมิ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) นั่นเอง

เหตุการณ์ที่น่าสนใจอื่น ๆ ในวูดสต็อก คือมีผู้เสียชีวิต 3 คน คนแรกเสพยาเกินขนาด คนที่สอง พลัดตกลงมาจากหอไฟส่องหน้าเวที และคนสุดท้ายถูกรถขนของเข้างานชนตายก่อนหน้างานเริ่ม 1 วัน ในงานมีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ห้องพยาบาลสนามถึง 5,162 คน มีเด็กคลอดใหม่ในงานหลายคน และมีผู้ถูกจับกุมไปสงบสติอารมณ์ที่เมืองเบเธล  177 คน  นอกจากนี้มีผู้นำบัตรมาขึ้นเงินคืนกว่า 18,000 ใบ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถึงงานได้ เพราะรถติดอยู่บนถนนที่จะเข้าสู่งาน

เทศกาลวูดสต็อกได้กลายเป็นเพียงตำนาน เมื่อสุดท้ายแล้วในปี 1970 แมกซ์ ยาสเกอร์ เจ้าของพื้นที่ปฏิเสธที่จะให้เช่าที่ในฟาร์มของเขาในปี 1970 เพื่อที่จะจัดเทศกาลอีกครั้ง เพราะเขากำลังจะกลับไปทำฟาร์มโคนมดังเดิม รวมไปถึงการที่รัฐนิวยอร์ก และ เมืองเบเธล ได้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมของมวลชน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเทศกาลแบบวูดสต็อกอีก แมกซ์ ยาสเกอร์ เสียชีวิตในปี 1973 ทุกวันนี้ยังมีอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความมีน้ำใจ เป็นก้อนหินแกะสลักรูปนกเกาะบนกิ่งไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวูดสต็อก ภายใต้รูปยังเต็มไปด้วยรายชื่อศิลปิน น้อย ใหญ่ ที่มาร่วมแสดงในคราวนั้น

มีการจัดคอนเสิร์ตรำลึก 25 ปีเทศกาลวูดสต็อกในปี 1994 แต่ในคอนเสิร์ตรำลึก 30 ปีเทศกาลวูดสต็อกในปี 1999 เทศกาลนี้กลายเป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยยาเสพติด เซ็กซ์ ความรุนแรงจากการยกพวกตีกัน และการข่มขืน จนเกิดเป็นที่สิ้นสุดของการจัดงานรำลึกเทศกาลวูดสต็อก ทำให้เทศกาลวูดสต็อกกลายเป็นเพียงตำนานและต้นแบบของเทศกาลดนตรีในยุคสมัยต่อมา

ใกล้เคียง