แร็ป-ฮิปฮอปต่อสังคมไทย ของ ฮิปฮอปไทย

สิ่งที่ทำให้ดนตรีแร็ปในประเทศไทยเป็นเริ่มที่นิยมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกระแสหรือค่านิยมจากการรับวัฒนธรรมดนตรีแร็ป-ฮิปฮอป จากสหรัฐอเมริกามาในยุค 90s แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า ความเป็นดนตรีแร็ปและเอกลักษณ์ในตัวดนตรีมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนเป็นอย่างมาก ด้วยรูปแบบเพลง จังหวะสไตล์ต่างๆ เนื้อหาและภาษาที่ให้อิสระศิลปินในการจินตนาการ และใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างกลอนด้นเป็นบทกวีและบทเพลง ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนไทยให้ความสนใจแนวดนตรีชนิดนี้มากขึ้น

เสน่ห์ของดนตรีแร็ปที่สำคัญคือการมีรากฐานมาจากการเล่าเรื่องชีวิต ปัญหาของสังคม ความรุนแรง ยาเสพติด และความไม่ยุติธรรม การเสพดนตรีแร็ปจึงเปรียบเสมือนการที่ได้พูดได้ฟังสิ่งที่เป็นจริง โดยใช้เสียงเพลงปลดปล่อยตัวเองออกจากสังคมที่เราถูกปิดกั้น และนี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพลงแร็ปได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยส่วนมากถูกกดดันด้วยกรอบทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ที่ถูกสอนให้เชื่อฟังคำสั่งของผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ การที่ประชาชนและสื่อถูกควบคุมการแสดงความเห็น ความเชื่อ ด้วยตัวบทกฎหมายที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐและบุคคลบางกลุ่มเพื่อความสงบเรียบร้อย ประชาชนจึงไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อสังคม หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนความเห็นในที่สาธารณะได้อย่างอิสระ ดนตรีแร็ปจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นช่องทางให้ผู้คนได้ปลดปล่อยสะท้อนปัญหาในใจของคนด้วยกลอนเพลง เสียงเพลง และจังหวะดนตรี การจัดการประชันแร็ป หรือ Rap Battle ในประเทศไทย เช่น รายการ SEA Hiphop Audio Battle, Rap Is Now, Rythm Fight, The Rapper ฯลฯ แสดงให้เห็นชัดถึงการเปิดกว้างของสังคมต่อแนวเพลงแร็ป ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหตุผลทางธุรกิจที่ตอบรับต่อกระแสดนตรีแร็ปที่มาแรง แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแนวดนตรีแร็ปที่สำคัญ ที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวเรื่องกรอบของสังคม แต่เป็นการโชว์ความดิบและความฉลาดของผู้สร้างกลอนแร็ป ทำให้คนรุ่นใหม่ได้กล้าคิด กล้าแสดงออก ในการเรียบเรียงคำพูดสดเพื่อโต้ตอบกันให้ตรงกับจังหวะดนตรี การจัดการแข่งขันดนตรีแร็ปรายการต่างๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน คือ การให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวทีแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์พัฒนากลอนและภาษาแร็ป ที่ต้องเรียบเรียงคำพูดสดในขณะนั้นเพื่อโต้ตอบกัน การประชันแร็ปนั้นยาก เพราะเป็นการปะทะคารมที่ต้องใช้สมาธิอย่างมากในการคิดกลอนเพลงและภาษาออกมาเป็นท่อนแร็ป และต้องคิดเนื้อร้องให้ตรงกับจังหวะดนตรี

เป็นที่ทราบกันดีว่า อิทธิพลของดนตรีแร็ปต่อสังคมไทยในปัจจุบันที่เด่นชัด คงไม่พ้นปรากฏการณ์เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ที่มียอดวิวในยูทูบถึงเกือบสี่สิบล้านวิว และเป็นข่าวใหญ่ในตอนนี้ เพลงนี้มีจุดเด่นเรื่องเนื้อหาและภาษา ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อสังคมไทย เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงเหตุการณ์ด้านลบทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงมีการใช้คำหยาบคายซึ่งมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความจริงแล้วถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์จะเห็นว่า การใช้กลอนเพลงและคำหรือวลี (ที่ปัจจุบันอาจมองว่าไม่สุภาพ) ในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม การเมือง และเพศ เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ทั้งในสังคมต้นกำเนิดแร็ปอย่างสหรัฐอเมริกา และในสังคมไทย ดังปรากฏให้เห็นในการละเล่นพื้นบ้านอย่างลำตัด อีแซว ลิเก การขับซอพื้นเมืองล้านนา ฯลฯ