เจตจำนงเสรี
เจตจำนงเสรี

เจตจำนงเสรี

เจตจำนงเสรี (อังกฤษ: free will) หมายถึงความสามารถในการเลือกทำสิ่งหนึ่งจากการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปได้ โดยที่ไม่มีปัจจัยมาขัดขวางความเข้าใจเรื่องเจตจำนงเสรีมีความจำเป็นสำหรับแนวคิดต่างๆ เช่น ความรับผิดชอบทางศีลธรรม การให้ความชื่นชม ความรู้สึกผิด ความบาป ซึ่งเป็นการตัดสินคุณค่าเชิงศีลธรรมสำหรับการกระทำที่ถูกเลือกอย่างเสรี โดยทั่วไปแล้ว การกระทำที่มาจากเจตจำนงเสรีเท่านั้นที่จะถูกมองว่าสมควรได้รับการชื่นชม หรือสมควรถูกตำหนิ มีประเด็นถกเถียงหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่คุกคามความเป็นไปได้ของการมีเจตจำนง ซึ่งประเด็นถกเถียงเหล่านี้จะมีความแตกต่างตามความเข้าใจเกี่ยวกับเจตจำนงเสรีแนวคิดเจตจำนงเสรีอาจเข้าใจได้ว่าเป็นความสามารถที่จะเลือกโดยที่ผลลัพธ์ของการเลือกนั้นยังไม่ได้ถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ในอดีต แต่แนวคิดแบบนิยัตินิยมชี้ให้เห็นว่ามีเพียงชุดเหตุการณ์แบบเดียวเท่านั้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับจุดยืนที่มองว่าแนวคิดนิยัตินิยมขัดแย้งกับเจตจำนงเสรี (incompatibilism) จะประกอบด้วย 1. จุดยืนแบบเสรีนิยมเชิงอภิปรัชญา (metaphysical libertarianism) ซึ่งเชื่อว่าแนวคิดแบบนิยัตินิยมเป็นเท็จ และเจตจำนงเสรีเป็นไปได้ 2. จุดยืนนิยัตินิยมแบบแข็ง (hard determinism) ซึ่งเชื่อว่านิยัตินิยมเป็นจริง และเจตจำนงเสรีเป็นไปไม่ได้ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีจุดยืนที่เชื่อว่าแนวคิดนิยัตินิยมไม่ได้ขัดแย้งกับเจตจำนงเสรี (compatibilism) โดยนักปรัชญาบางคนอ้างว่า แนวคิดแบบนิยัตินิยมเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการมีเจตจำนงเสรี เช่นในกรณีที่เราจะเลือกทำอะไรบางอย่าง การที่เราเลือกกระทำแบบหนึ่งมากกว่าอีกแบบหนึ่ง เราก็ต้องอาศัยความจริงที่ว่า การเลือกที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ในแง่นี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดนิยัตินิยมและเจตจำนงเสรีจึงเป็นความขัดแย้งไม่จริง นักปรัชญาหลายคนพยายามที่จะให้ทฤษฎีสนับสนุนจุดยืนดังกล่าวในแบบที่แตกต่างกัน เช่น บางคนให้นิยามว่าเจตจำนงเสรีคือการมีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆ โดยเราจะมีอิสระก็ต่อเมื่อการเลือกในอดีตของเราสามารถที่จะเลือกอย่างอื่นได้โดยไม่มีปัจจัยทางกายภาพมาขัดขวาง บางคนเสนอว่าเจตจำนงเสรีเป็นความสามารถในระดับจิตวิทยา (psychological capacity) เช่น เป็นความสามารถในการชี้นำพฤติกรรมของตนเองด้วยการอาศัยเหตุผล