เตียวเหียน

เตียวเหียน (張紘) เป็นที่ปรึกษาของซุนเซ็ก รับราชการพร้อมกับ เตียวเจียว เตียวเจียวและเตียวเหียนเป็น 2 ปราชญ์แซ่เตียวที่ทรงปัญญาในกังตั๋ง เป็นชาวเมืองกองเหล็ง (กฺวั่งหลิง) มณฑลเจียงซู มีชื่อรองว่า จื่อกาง เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถมาก ไม่เห็นแก่ลาภยศ ประพันธ์บทกวีไว้สิบกว่าบท เขียนอรรถาธิบายคัมภีร์อี้จิง คำประพันธ์ยุคฮั่น หลี่จี้ จ่อซื้อ ชุนซิว มีชื่อเสียงโด่งดังจิวยี่เป็นผู้แนะนำซุนเซ็กให้เชิญเตียวเหียนกับเตียวเจียวมาเป็นที่ปรึกษา ตอนแรกซุนเซ็กส่งของกำนัลและจดหมายไปเชิญ บุคคลทั้งสองไม่ยอมมา ซุนเซ็กต้องไปเชิญเองจึงยอมรับ เตียวเหียนได้รับแต่งตั้งให้เป็นชันเหมาเจิ้งหยี่ (เสนาธิการทหาร) ถ้าเตียวเหียนออกศึก เตียวเจียวจะควบคุมการบริหารอยู่ในเมือง ถ้าเตียวเจียวออกศึก เตียวเหียนก็จะอยู่ในเมือง เป็นเช่นนี้ตลอดเวลา เมื่อซุนเซ็กเป็นใหญ่ขึ้นในกังตั๋ง ได้ให้เตียวเหียน ไปทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่ราชธานีฮูโต๋ โจโฉเห็นเตียวเหียนเป็นหัวแรงสำคัญของซุนเซ็ก ก็กักตัวไว้ ไม่ยอมให้กลับ พอซุนเซ็กตายแล้ว โจโฉยอมให้เตียวเหียนกลับมาช่วยซุนกวน โดยเชื่อว่าจะภักดีต่อโจโฉ เตียวเหียนรับราชการอยู่กับซุนกวน จนกระทั่งป่วยมาก จนต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ก่อนจะตายได้มีหนังสือแนะนำให้ซุนกวนย้ายเมืองหลวงของกังตั๋งจากลำซี มาตั้งที่เบาะเหลง (นานกิง) ซึ่งซุนกวนก็ได้ปฏิบัติตาม