เวสต์แบงก์
เวสต์แบงก์

เวสต์แบงก์

เวสต์แบงก์ (อังกฤษ: West Bank; อาหรับ: الضفة الغربية‎; ฮีบรู: הגדה המערבית‎ หรือ יהודה ושומרון ซึ่งแปลว่า "จูเดียและซาแมเรีย"[1][2]) เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เวสต์แบงก์มีพรมแดนทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ร่วมกับรัฐอิสราเอล ส่วนทางทิศตะวันออกข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปจะเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน นอกจากนี้ เวสต์แบงก์ยังมีชายฝั่งทะเลตลอดแนวฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลเดดซีอีกด้วย[3]เขตเวสต์แบงก์ (รวมนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออก) มีเนื้อที่บนบก 5,640 ตารางกิโลเมตร และมีเนื้อที่พื้นน้ำ 220 ตารางกิโลเมตรซึ่งได้แก่ส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลเดดซี[4] ประมาณการกันว่ามีจำนวนประชากร 2,622,544 คน ณ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 ประชากรกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 2 ล้านคนเป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์ และอีกประมาณ 5 แสนคนเป็นชาวอิสราเอลยิวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่[3] ซึ่งรวมทั้งชาวอิสราเอล 192,000 คนในนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออก[5] ประชาคมโลกถือว่าการตั้งและขยายถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์รวมทั้งในนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออกเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อิสราเอลก็โต้แย้งประเด็นนี้มาตลอด[6][7][8][9]ชื่อเวสต์แบงก์ (West Bank) หรือซิสจอร์แดน (Cisjordan) มีต้นกำเนิดพร้อมกับการก่อตั้งราชอาณาจักรเยรูซาเลมในยุคกลาง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บริเวณที่เรียกว่าเวสต์แบงก์ในปัจจุบันนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาประมาณ 400 ปีในฐานะส่วนหนึ่งของบริเวณซีเรีย ในการประชุมที่ซานเรโมเมื่อปี ค.ศ. 1920 มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร (ได้แก่ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเป็นต้น) ได้ปันพื้นที่นี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตในอาณัติของสหราชอาณาจักร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหประชาชาติได้ผ่านความเห็นชอบข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 181 (2) ว่าด้วยเรื่องรัฐบาลในอนาคตของปาเลสไตน์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสถาปนารัฐชาติขึ้นสองแห่งในบริเวณรัฐในอารักขาปาเลสไตน์ โดยข้อมติดังกล่าวได้กำหนดให้ "พื้นที่เนินเขาแห่งซาแมเรียและจูเดีย" (ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเวสต์แบงก์ในปัจจุบันด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของรัฐอาหรับที่จะตั้งขึ้นใหม่ แต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอล ค.ศ. 1948 พื้นที่นี้ก็ถูกครอบครองโดยทรานส์จอร์แดน (เปลี่ยนชื่อเป็นจอร์แดนในปี ค.ศ. 1949) "เวสต์แบงก์" หรือ "ซิสจอร์แดน" กลายเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำจอร์แดน ในขณะที่ "อีสต์แบงก์" หรือ "ทรานส์จอร์แดน" กลายเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ แนวพรมแดนชั่วคราวระหว่างอิสราเอลกับเวสต์แบงก์ของจอร์แดนได้รับการกำหนดในความตกลงสงบศึก ค.ศ. 1949 จอร์แดนมีอำนาจปกครองเหนือเขตเวสต์แบงก์ตั้งแต่ ค.ศ. 1948 จนถึง ค.ศ. 1967 (โดยได้ผนวกพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของตนใน ค.ศ. 1950) แต่การอ้างกรรมสิทธิ์ของจอร์แดนไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากชาติใด ๆ ยกเว้นสหราชอาณาจักร[10][11]ต่อมาอิสราเอลได้เข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และนครเยรูซาเลมตะวันออกหลังสิ้นสุดสงครามหกวันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1967 แม้ว่าเขตเวสต์แบงก์จะไม่ได้ถูกผนวกเข้ากับอิสราเอล (ยกเว้นพื้นที่นครเยรูซาเลมตะวันออกและดินแดนที่อิสราเอลกับจอร์แดนเคยกำหนดไว้ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ) แต่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารจากอิสราเอล โดยอิสราเอลเรียกพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่จูเดียและซาแมเรีย" (Judea and Samaria Area) จากนั้นในปี ค.ศ. 1974 ที่ประชุมสุดยอดองค์การสันนิบาตอาหรับ ณ กรุงราบัต มีมติกำหนดให้องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) เป็น "ตัวแทนที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของชาวปาเลสไตน์" แต่จอร์แดนก็ไม่ได้ถอนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นี้อย่างเป็นทางการจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1988[12] ซึ่งทำให้ความผูกพันทางการบริหารและกฎหมายกับเวสต์แบงก์ถูกตัดขาด และทำให้สถานะพลเมืองจอร์แดนของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่นี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด[13]พื้นที่หลายแห่งในเขตเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้การปกครองจากองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงออสโลเมื่อปี ค.ศ. 1993 และแม้ว่า 164 ชาติมักจะอ้างถึงเขตเวสต์แบงก์รวมทั้งนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออกว่าเป็น "ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง"[14][15] แต่รัฐบาลอิสราเอลก็ยังยืนหยัดว่า ดินแดนที่จะเรียกว่าถูกยึดครองได้ต้องเป็นดินแดนที่ถูกยึดในสงครามจาก "รัฐอธิปไตยที่ได้รับการสถาปนาและรับรองแล้ว" เท่านั้น[16] หลังความแตกแยกระหว่างกลุ่มฟะตะห์กับกลุ่มฮะมาสในปี ค.ศ. 2007 พื้นที่ต่าง ๆ ในเขตเวสต์แบงก์ที่ความควบคุมของปาเลสไตน์กลายเป็นพื้นที่กลุ่มเดียวที่องค์การบริหารปาเลสไตน์ยังคงปกครองอยู่ ในขณะที่ฉนวนกาซาตกไปอยู่ในอำนาจของกลุ่มฮะมาส