ไลเคน

ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการดำรงชีวิตแบบภาวะพึ่งพากันระหว่างสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียกับฟังไจ (fungi) โดยที่เรียกสาหร่ายสีเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียในไลเคนว่า โฟโตไบออนท์ (photobiont) และเรียกฟังไจว่าไมคอไบออนท์ (mycobiont) ฟังไจในไลเคนส่วนมากอยู่ในไฟลัมแอสโคไมโคตาและมีบางชนิดเป็นฟังไจในไฟลัมเบสิดิโอไมโคตาบ้างเรียกไลเคนที่เกิดจากฟังไจ 2ไฟลัมนี้ว่าแอสโคไลเคน (ascolichen) (ภาพที่ 1) และเบสิดิโอไลเคน (basidiolichen) (ภาพที่ 2)  ตามลำดับ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในไลเคน อาจเป็นได้ 3 รูปแบบ คือ1.       ฟังไจกับสาหร่ายสีเขียว2.       ฟังไจกับไซยาโนแบคทีเรีย3.       ฟังใจกับสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียการดำรงชีวิตของไลเคนสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียสามารถสร้างอาหารได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ฟังไจจึงได้รับอาหารนั้นด้วย ขณะเดียวกันเส้นใยหรือไฮฟา (hypha)ของฟังไจมีสมบัติในการเก็บความชื้นได้ดี ฟังไจจึงช่วยรักษาความชื้นให้กับสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรีย นอกจากนี้เส้นใยของฟังไจที่สานตัวกันแน่นจะช่วยป้องกันความร้อนและแสงแดดอีกด้วยไลเคนพบได้ทั่วไป ทั้งบริเวณที่มีอากาศหนาวแถบขั้วโลก หรือตามทะเลทรายที่ร้อนและแห้งแล้ง ตามชายหาดหิน ป่าในเขตอบอุ่นและเขตร้อนตั้งแต่พื้นราบจนถึงยอดเขาสูง แต่จะไม่พบไลเคนบริเวณที่มีมลพิษในอากาศ เช่น เขตอุตสาหกรรม เขตเมืองที่มีมลพิษ หรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น  ดังนั้นไลเคนจึงเสมือนเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของอากาศได้อีกด้วย