ต่างประเทศ ของ ประเทศมาเลเซีย

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทย

มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ ความสัมพันธ์มาเลเซีย–ไทย (อภิปราย)

ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 และมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กัวลาลัมเปอร์ เอกอัครราชทูต ณ กัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบันคือ นายกฤต ไกรจิตติ ซึ่งเดินทางไปรับหน้าที่เมื่อวันที่ 2 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ (1) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และ (2) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซียได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน และสำนักงานประสานงานตำรวจ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาเลเซีย

มาเลเซียมีสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้แก่ ดาโต๊ะ นาซีระห์ บินตี ฮุสซัยน์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และมีสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา และกงสุญใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ได้แก่ นายไฟซัล แอต มุฮัมมัด ไฟซัล บิน ราซาลี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission : JC) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy : JDS) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ซึ่งทั้ง 3 ระดับเป็นกรอบความร่วมมือของฝ่ายทหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และความร่วมมือชายแดน คณะกรรมการด้านความมั่นคงกรอบอื่น ๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และความร่วมมือในกรอบ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) และอาเซียน และ (2) ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศและการเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures) บนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา (Education) การจ้างงาน (Employment) และการประกอบกิจการ (Entrepreneurship)

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีพลวัตร รวมทั้งตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการมี “จุดมุ่งหมาย” ร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง

กองทัพไทยกับมาเลเซียมีการฝึกทางทหารระหว่างกันเป็นประจำ ได้แก่ (1) LAND EX THAMAL ซึ่งเป็นการฝึกประจำปีเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2536 (2) THALAY LAUT ซึ่งมีการฝึกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2523 จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยไทยกับมาเลเซียสลับกันเป็นเจ้าภาพ (3) SEA EX THAMAL เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีพื้นที่ฝึกบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการร่วมชายแดนทางทะเลระหว่างไทย–มาเลเซียทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (4) AIR THAMAL เป็นการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีตามบริเวณชายแดนไทย–มาเลเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยทำการฝึกทุกปี ประกอบด้วยการฝึกภาคสนามสลับกับการฝึกปัญหาที่บังคับการ และสลับกันเป็นเจ้าภาพ และ (5) JCEX THAMAL เป็นการฝึกร่วม/ผสมภายใต้กรอบการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 3–7 มีนาคม พ.ศ. 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารและเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี และเมื่อวันที่ 17–19 เมษายน พ.ศ. 2555 รองผู้บัญชาการทหารบกและผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงกลาโหมได้เดินทางเยือนมาเลเซียเพื่อเข้าร่วม Defence Services Asia – DSA 2012) ครั้งที่ 13 และมาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย–มาเลเซีย (HLC) ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 14–16 พฤษภาคม 2555 ที่กัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

ในปี 2554 มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 การค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 24,724.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (749,626.68 ล้านบาท) ไทยส่งออก 12,398.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (373,606.62 ล้านบาท) และนำเข้า 12,326.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(376,020.05 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 72.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เสียเปรียบดุลการค้าเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,4613.43 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้ารวมปี 2553 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 18,688.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (560,654.99 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 6,602.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (198,073.34 ล้านบาท) ทั้งนี้ การค้าชายแดนประกอบเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ของการค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย

สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียประกอบด้วย น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่และโลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

การลงทุน

ในปี 2554 มาเลเซียลงทุนในไทยจำนวน 34 โครงการ มีมูลค่า 6,135 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาการบริการยานยนต์ การเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 21 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 3,863 ล้านบาท มาเลเซียสนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมาเลเซียมีศักยภาพในการลงทุน และการลงทุนในไทยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากไทยมีแรงงานและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดีกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้ Malaysia Industrial Development Authority (MIDA) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่มีภาคการลงทุนของไทยลงทุนด้วยจำนวน 3 โครงการ มีมูลค่า 2,415 ล้านบาท นักลงทุนไทยที่สนใจไปลงทุนในมาเลเซียได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เครือซีเมนต์ไทย กลุ่มบริษัทสามารถ และร้านอาหารไทย

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางมาประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 2.47 ล้านคน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียจำนวน 1.52 ล้านคน

แรงงานไทย

ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในมาเลเซียประมาณ 210,000 คน โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 6,600 คน ทั้งนี้ ในปี 2553 มีแรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในมาเลเซียจำนวน 458,698 คน โดยแรงงานจากอินโดนีเซียจัดเป็นลำดับหนึ่ง ร้อยละ 55.81 และแรงงานไทยจัดอยู่ในลำดับ 9 ร้อยละ 1.45 มาเลเซียมีความต้องการแรงงานไทยสาขาก่อสร้าง งานนวดแผนไทย งานบริการ การเกษตรชายแดน อุตสาหกรรมและงานแม่บ้าน ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้ ค่าจ้างขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไทยกับมาเลเซียมีความร่วมมือด้านแรงงานในกรอบคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือแรงงานภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-มาเลเซีย

ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียประกอบด้วย (1) กลุ่มแรงงานไทยในร้านต้มยำของมาเลเซีย (ร้านอาหารไทย) จำนวนมากกว่า 10,000 คน และ (2) กลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งศึกษาระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลายในโรงเรียนสอนศาสนาของรัฐบาลมาเลเซียจำนวน 350 คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยอาศัยอยู่ใน 4 มณฑลในภาคใต้ตอนล่างของสยาม เนื่องจากเมื่อปี 2452 รัฐบาลสยามตกลงมอบ 4 มณฑลให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกับการให้อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามในส่วนอื่นของประเทศ คนเหล่านี้จึงตกค้างและกลายเป็นพลเมืองของมาเลเซียในปัจจุบัน คนสยามดังกล่าวมีการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสื่อสารในท้องถิ่น

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 21 สิงหาคม 2550 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 19 มกราคม 2554 ซึ่งดำเนินความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และการให้ทุนการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการไทย–มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Think Tank and Scholar Network) โดยมีศูนย์ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Institute of Strategic and International Studies ของมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานหลัก

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศมาเลเซีย http://blog88.exteen.com/20130529/malaysia http://www.statoids.com/ymy.html http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/2777.htm http://www.thestar.com.my/Opinion/Online-Exclusive... http://mygov.malaysia.gov.my/EN/Main/MsianGov/Msia... http://www.asean.org http://www.thecommonwealth.org/Internal/142227/mem... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.cia.gov/library/publications/the-world... https://en.wikipedia.org/wiki/Religion_in_Malaysia