โครงสร้างรายการ ของ 24_ชั่วโมงอันตราย

เนื้อเรื่องตามเวลาจริง

24 เป็นซีรีส์แนวตื่นเต้นระทึกขวัญที่ดำเนินเรื่องในลักษณะ "ตามเวลาจริง" โดยแต่ละนาทีในเวลาออกอากาศนั้นตรงกับแต่ละนาทีในชีวิตของตัวละครเช่นกัน ส่วนพักโฆษณาจะถูกจัดให้อยู่ในช่วงที่เนื้อเรื่องที่ไม่สำคัญกำลังดำเนินอยู่ (เช่น พักโฆษณาจะเริ่มขึ้นเมื่อตอนที่ตัวละครกำลังขับรถไปยังจุดหมายหนึ่ง และไปถึงที่หมายเมื่อหมดพักโฆษณาพอดี) ซึ่งทำให้รายการสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาจริงโดยไม่รบกวนกับฉากสำคัญ

เวลาออกอากาศจริงๆ ของซีรีส์โดยไม่มีโฆษณาในหนึ่งตอนมีความยาวประมาณ 45 นาที ซึ่งเป็นความยาวปกติของรายการโทรทัศน์แบบหนึ่งชั่วโมงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม รายการจะต้องมีโฆษณาคั่นเท่านั้นถึงจะได้ผล (ซึ่งอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นในบางประเทศ หรือบริการเคเบิลทีวีที่มักจะไม่มีโฆษณาคั่นรายการ) อีกทั้งระยะเวลาของพักโฆษณาจะต้องมีความยาวพอดีกับช่องว่างของเนื้อเรื่อง (ซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นในบางสถานีที่ออกอากาศเช่นกัน)

การดำเนินเรื่องตามเวลาจริงนั้นถูกเน้นโดยเนื้อเรื่องในช่วงก่อนและหลังพักโฆษณาไม่กี่วินาที จะมีตัวละครในสถานที่ต่างกำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในจอแยกกัน โดยมีนาฬิกาดิจิตัลปรากฏขึ้นแสดงเวลา พร้อมกับส่งเสียง "บี๊ป" (ซึ่งเป็นเสียงโดและเรสลับกัน) ในแต่ละวินาทีที่ผ่านไป เวลาดังกล่าวจะตรงกับเวลาที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่อง ส่วนตัวละครก็มักจะวางกรอบเวลาไว้ (อาทิเช่น ภายในหนึ่งชั่วโมง) สำหรับเหตุการณ์สำคัญๆ เช่นในเนื้อเรื่องเช่นภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย โดยระบุไว้อย่างแน่ชัดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนจบตอน

เหตุการณ์ที่สลับไปมาระหว่างสถานที่ต่างๆ กันนำไปสู่การดำเนินเรื่องที่เป็นเส้นขนานของตัวละครหลายตัวซึ่งจะมาบรรจบกันเป็นพล็อตเรื่องใหญ่พล็อตเดียว ทำให้ในบางครั้งจะมีการบรรยายถึงความเป็นไปของตัวละครบางตัวโดยผู้ชมไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และตัวละครดังกล่าวอาจจะปรากฏตัวขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ของตอนเท่านั้น

การดำเนินเรื่องและรูปแบบการนำเสนอ

24 มีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็ว ตื่นเต้นระทึกใจ และมีพล็อตเรื่องที่ซับซ้อน

ตัวละครในเรื่องมักเผชิญกับการตัดสินใจที่ทดสอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และในบางครั้งอาจต้องยอมให้สิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ที่ดีกว่า ตัวอย่างเช่น ในฤดูกาลที่สอง เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมมีโอกาสที่จะเตือนซีทียูเรื่องการโจมตีอาคารที่ทำการของซีทียู แต่โต้เถียงกันว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้ผู้ร้ายรู้ตัวและอาจทำให้สูญเสียเบาะแสที่อาจนำไปหาผู้ร้ายได้ และในอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลห้า เมื่อผู้ก่อการร้ายวางแผนที่จะปล่อยแก๊สทำลายประสาทในห้างสรรพสินค้าที่เต็มไปด้วยประชาชน รวมถึงในฤดูกาลสาม เมื่อประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ซีทียูต้องเลือกระหว่างชีวิตของเจ้าหน้าที่ซีทียูระดับสูงและภัยคุกคามจากการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่ฤดูกาลสี่ ก็มีกรณีที่ตัวละครหลักของเรื่องต้องเลือกช่วยชีวิตชายคนใดคนหนึ่ง ระหว่างคนที่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการโจมตีด้วยจรวดนิวเคลียร์ กับอีกคนที่เป็นสามีของตัวละครหลักของเรื่องอีกตัว เมื่อทั้งคู่กำลังจะตาย จึงเป็นสถานการณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ที่ตัวละครเอกต้องตัดสินใจเลือกคนที่เขาจะช่วยชีวิต และในบางครั้ง แม้แต่ประธานาธิบดีก็ต้องรับมือกับสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างนี้เช่นกัน เช่นในฤดูกาลหก เมื่อประธานาธิบดีขอให้ตัวละครเอกสละชีวิตเพื่อแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งที่ตั้งของผู้ก่อการร้ายคนหนึ่ง

ฤดูกาลที่หนึ่งเริ่มและจบลงตอนเที่ยงคืน นำไปสู่สถานการณ์ที่ตัวละครหลักๆ ต้องอดหลับอดนอนเป็นเวลาเกือบสองวัน ในฤดูกาลต่อมา กรอบเวลาของฤดูกาลนั้นบีบรัดน้อยลง โดยมักเริ่มขึ้นในตอนเช้า หรือบ่ายต้นๆ

ในสองฤดูกาลแรกนั้น 24 มักใช้การแบ่งจอเพื่อดำเนินเรื่องจากหลายๆ ตัวละครพร้อมๆ กัน แต่ตั้งแต่ฤดูกาลสามเป็นต้นมา การแบ่งจอจะสงวนให้กับการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างตัวละครหรือช็อตก่อนและหลังพักโฆษณาเท่านั้น

หน่วยต่อต้านผู้ก่อการร้าย

หน่วยต่อต้านผู้ก่อการร้าย (Counter Terrorist Unit หรือซีทียู) คือองค์กรสมมติในเนื้อเรื่องที่เป็นสาขาพิเศษของกระทรวงยุติธรรม และมีความคล้ายคลึงกับกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของเอฟบีไอและตำรวจเมืองนิวยอร์กและแผนกปฏิบัติการณ์พิเศษของศูนย์ต่อต้านผู้ก่อการร้ายของซีไอเอในชีวิตจริง โดยซีทียูมีศูนย์บัญชาการอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซีและมีสาขาย่อยตามเมืองต่างๆ ที่เสี่ยงต่อภัยคุกคาม ภารกิจหลักของซีทียูคือการบั่นทอนและทำลายองค์กรก่อการร้ายที่เป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการป้องกันประเทศจากภัยก่อการร้าย นอกจากนี้ซีทียูยังมีบทบาทในการกำหนดนโยบายความมั่นคงและจัดการกับองค์กรอาชญากรรมที่สนับสนุนการก่อการร้ายอีกด้วย ถึงแม้ซีทียูจะเป็นองค์กรที่สมมติขึ้น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่มีชื่อว่าศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ

สำนักงานซีทียูแต่ละแห่งจะมีผู้อำนวยการ ในตำแหน่งเรียกว่าเจ้าหน้าที่สั่งการพิเศษ คอยสั่งการผ่านผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการณ์ภาคสนามและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะรายงานต่อผู้อำนวยการซีทียูเป็นระยะๆ โดยในซีทียูจะแบ่งแผนกออกเป็นสามแผนกสำคัญๆ ได้แก่แผนกสื่อสาร (Communications เรียกย่อๆ ว่าคอม) แผนกส่งกำลังบำรุงและแผนกยุทธวิธี (หรือเรียกว่า "หน่วยภาคสนาม") สำหรับแผนกสื่อสารและบำรุงกำลังนั้นจะรายงานโดยตรงต่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ในขณะที่บุคลากรฝ่ายยุทธวิธีจะถูกจัดแบ่งเป็นทีมยุทธวิธี (Tactical teams เรียกย่อๆ ว่าแท็คทีม) โดยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการณ์ภาคสนาม

อาคารสำนักงานซีทียูสาขาลอสแอนเจลิสประกอบไปด้วยพื้นที่ปฏิบัติงานหลายส่วนด้วยกัน โดยชั้นแรกจะประกอบไปด้วยห้องสถานการณ์, ศูนย์สื่อสารหลักและศูนย์บัญชาการ ส่วนชั้นสองนั้นประกอบไปด้วยห้องทำงานของผู้อำนวยการและฝ่ายภาคสนาม ส่วนอื่นของอาคารประกอบไปด้วยแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) , คลินิกรักษาภายใน, แผนกอุตุนิยมวิทยา รวมไปถึงห้องคุมตัวซึ่งใช้สำหรับการสอบสวนและการคุมขัง และห้องเทคนิคซึ่งเป็นที่ตั้งของฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายระบบของซีทียู

สำนักงานซีทียูในภูมิภาคจะรายงานต่อสำนักงานประจำแผนก ซึ่งมีผู้อำนวยการแผนกเป็นผู้สั่งการครอบคลุมพื้นที่ที่ใหญ่กว่าพื้นที่ที่ซีทูยูรับผิดชอบ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สำนักงานประจำแผนกและสำนักงานๆ อื่นจะรายงานต่อสำนักงานใหญ่ของเขต ซึ่งควบคุมโดยผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค โดยตำแหน่งทำให้สำนักงานใหญ่ของเขตมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา

ซีทียูมักถูกโจมตีในทางใดทางหนึ่งหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่มีการทำงานที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นที่สังเกตก็ตาม แต่ซีทียูก็มักจะถูกแทรกซึมโดยสายลับสองหน้า และมีหลายต่อหลายครั้งด้วยกันที่สำนักงานซีทียูถูกโจมตีหรือยึดโดยผู้ก่อการร้าย

ในฤดูกาลที่เจ็ด สามปีหลังจากเหตุการณ์ในฤดูกาลหก ซีทียูถูกยุบโดยรัฐบาล โดยฤดูกาลเจ็ด จะดำเนินเรื่องในกรุงวอชิงตันดีซี แทนที่จะเป็นเมืองลอสแอนเจลิสที่เป็นสถานที่ดำเนินเรื่องในหกฤดูกาลที่ผ่านมา


องค์ประกอบเนื้อเรื่อง

มีองค์ประกอบเนื้อเรื่องบางตัวที่ถูกยกขึ้นมาใช้บ่อยครั้งใน 24

  • อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง: อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ มักเป็นภัยคุกคามสำคัญๆ ในแทบทุกฤดูกาล โดยในฤดูกาลที่สองและฤดูกาลที่หก อาวุธนิวเคลียร์คือภัยคุกคามหลัก ส่วนในฤดูกาลสาม ภัยคุมคามหลักคืออาวุธชีวภาพ (ไวรัส) ในฤดูกาลห้า ภัยคุกคามคือแก๊สทำลายประสาท ส่วนในฤดูกาลสี่ก็มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามเช่นกัน แต่เนื้อเรื่องโดยรวมแล้วไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับอาวุธสักเท่าใดนัก
  • คนทรยศในรัฐบาล: ซีทียูมักมีสายแทรกซึมอยู่ โดยเนื้อเรื่องรองในฤดูกาลแรกนั้นเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ซีทียูที่ทำงานกับผู้ก่อการร้าย โดยในตอนแรก จนท. ที่ทำงานกับผกก. ได้ใส่ความ จนท. อีกคนหนึ่งและสามารถหลบหลีกการตรวจจับมาได้จนกระทั่งตอนอวสานของฤดูกาล ต่อมาในฤดูกาลที่สี่ ก็พบเจ้าหน้าที่อีกที่ร่วมงานกับผู้ก่อการร้าย นอกจากนี้ยังมีคนทรยศในคณะรัฐบาลที่ถูกเปิดโปงในฤดูกาลห้า และรวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับด้วย
  • การอ้างถึงบทบัญญัติที่ยี่สิบห้า: มาตราสี่ของบทบัญญัติที่ยี่สิบห้าระบุว่า เมื่อรองประธานาธิบดีและเสียงส่วนมากของคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีออกเสียงว่าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ปธน. จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง มีการอ้างถึงบทบัญญัตินี้ครั้งแรกในฤดูกาลสอง เพื่อหยุด ปธน. ที่กำลังยับยั้งการเปิดการโจมตีที่อาจส่งสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามได้ ทำให้เขาถูกถอดถอนจากตำแหน่ง โดยแพ้คะแนนเสียงเพียงหนึ่งคะแนน แต่ในที่สุดก็สามารถป้องกันการโจมตีไม่ให้เกิดขึ้นได บทบัญญัตินี้ยังถูกอ้างขึ้นในฤดูกาลสี่และหก หลังจากการพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีสองคนที่ล้มเหลว
  • การฝ่าฝืนคำสั่งของแจ๊ค บาวเออร์: แจ๊คได้ละเมิดระเบียบปฏิบัติของซีทียูอย่างน้องหนึ่งครั้งในทุกฤดูกาล โดยเขามักได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ (ส่วนใหญ่เป็นโคลอี้ โอไบรอัน, โทนี่ อัลเมด้าและมิเชล เดสเลอร์) การกระทำส่วนใหญ่ของเขาต่อมามักได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาล (หรือบางครั้ง ปธน. โดยตรง) เมื่อผลของการกระทำของเขาพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ
  • การเปลี่ยนตำแหน่งบัญชาการบ่อยครั้ง: เท่าที่ผ่านมา ตลอดทั้งหกฤดูกาล มีประธานาธิบดีทั้งหมดหกคน โดยมีเพียงสามคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาและมีแค่หนึ่งคนที่บริหารประเทศจนครบวาระ มีประธานาธิบดีสองคนที่ลาออกจากตำแหน่ง อีกสามคนที่ถูกลอบสังหาร (แต่ไม่สำเร็จ) และอีกหนึ่งคนที่ถูกลอบสังหาร (สำเร็จ) หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้อำนวยการของซีทียู เคยตกเป็นของคนสิบสองคน ซึ่งส่วนใหญ่ลาออกหรือไม่ก็ถูกฆ่า
  • การข่มขู่เอาชีวิตสมาชิกในครอบครัวเพื่อบีบบังคับให้ร่วมมือ: ผู้ร้ายในเรื่องมักจะลักพาตัวและขู่เอาชีวิตของสมาชิกในครอบครัวของตัวละครหลักหลายครั้งเพื่อบังคับให้พวกเขาร่วมมือทำงานต่อต้านซีทียูหรือรัฐบาลอย่างลับๆ นอกจากนี้แจ๊คยังเคยคู่ที่จะประหารชีวิตสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนด้วย แม้ว่าแท้จริงแล้วการประหารชีวิตจะถูกจัดฉากขึ้นก็ตาม
  • การทรมานผู้ต้องหาทางร่างกายและจิตใจ: แจ๊คและซีทียูมักจะหาทางรีดข้อมูลที่ต้องการจากผู้ต้องหาหรือคนทรยศ (ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ซีทียู) ผ่านการทรมานในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่นการทำร้ายร่างกาย, การใช้ยาที่กระตุ้นความเจ็บปวด, การจัดฉากการประหารชีวิต ฯลฯ โดยวิธีการดังกล่ามักจะประสบความสำเร็จ และถูกแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพอย่างมาก
  • การตายของตัวละครหลัก: มีเพียงแจ๊ค บาวเออร์และอารอน เพียรซ์เท่านั้นที่ปรากฏตัวในทุกฤดูกาลที่ผ่านมา โดยมีตัวละครหลักเก้าคนด้วยกันที่เสียชีวิต รวมไปถึงตัวละครเสริมอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตเช่นกัน ซึ่งส่วนมากมักตายอย่างฉับพลันโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ในขณะที่คนอื่นๆ อาจมีการตายในกรอบเวลาที่กำหนดได้ ทำให้ผู้ชมต้องลุ้น ฤดูกาลที่ตัวละครหลักตายมากที่สุดคือฤดูกาลห้า ซึ่งการตายของสี่คนนั้นส่งผลกระทบอย่างมากกับเนื้อเรื่อง (แม้ว่าคนหนึ่งจะถูกระบุว่ายังมีชีวิตและจะกลับมาในฤดูกาลต่อมาก็ตาม)
  • ความขัดแย้งระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว: เพื่อเพิ่มความกดดันให้กับเจ้าหน้าที่ซีทียูให้มากกว่าเดิม ผู้สร้างจึงได้เพิ่มเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของตัวละครเพิ่มเข้าไปในโครงเรื่อง อย่างเช่นในฤดูกาลแรก เมื่อแจ็กถูกบังคับให้เลือกระหว่างการไปช่วยครอบครัวของเขากับการป้องกันไม่ให้การลอบสังหารผู้เข้าสมัครเป็นประธานาธิบดีเกิดขึ้น และยังมีกรณีเช่นนี้อีกมากมายในฤดูกาลต่อๆ มา โดยส่วนมากจะเน้นไปที่ชีวิตความรักของตัวละครกับการเสียสละ
  • ความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดี: ผู้ร้ายใน 24 หลายต่อหลายคนที่เรียกร้องการนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดีเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น