การทดลองทางคลินิก ของ ChAdOx1

มีการแสดงให้เห็นว่าเวคเตอร์ไวรัส ChAdOx1 ในวงศ์ adenoviridae สามารถใช้ทำวัคซีนที่ป้องกันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ในหนูทดลอง และสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อ MERS ในมนุษย์ได้[4][5]

ไวรัสพาหะยังใช้ในการสร้างวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ซึ่งมีประสิทธิภาพในหนูแฮมสเตอร์ (แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในมนุษย์)[6] นอกจากนั้นยังมีการสร้างวัคซีนที่มีศักยภาพสำหรับโรคไข้ริฟต์แวลลีย์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันในแกะ แพะ และโค (แต่ไม่ได้มีการพิสูจน์ในมนุษย์)[7]

ไวรัสอะดีโนที่แสดงแอนติเจน 85A (ChAdOx1 85A) ถูกใช้เป็นพาหะสำหรับวัคซีนวัณโรค[8]

ในปี พ.ศ. 2560 มีการใช้ไวรัสพาหะ ChAdOx1 ในการทดลองวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียในมนุษย์ นักวิจัยได้ศึกษาวัคซีนทดลองสองชนิดคือ ChAdOx1 LS2 และ MVA LS2 โดยชนิดแรกได้เข้ารหัสแอนติเจน LS2 สองชนิดสำหรับโรคมาลาเรียระยะที่อยู่ในเซลล์ตับ (LSA1 และ LSAP2) ที่หลอมรวมกับโดเมนข้ามผ่านเยื่อหุ้มเซลล์จากสายโซ่ที่ไม่แปรเปลี่ยนของปลาฉลาม และชนิดหลังใช้ไวรัสพาหะ Modified Vaccinia Ankara (MVA) ที่เข้ารหัส LS2 โดยหลอมรวมกับปลาย C-terminal ของลำดับนำของตัวกระตุ้นพลาสมิโนเจนจากเนื้อเยื่อ (tPA) การทดลองดำเนินมาถึงระยะที่ I/IIa[9]

นอกจากนี้ยังมีการตรวจค้นหาสายพันธุ์ที่ใช้เป็นไวรัสพาหะสำหรับวัคซีนต่อต้านไวรัสซิกา (ChAdOx1 ZIKV)[10] และต่อต้านไวรัสชิคุนกุนยา (ChAdOx1 sCHIKV)[11]

ไวรัสเวกเตอร์ ChAdOx1 ถูกใช้เป็นฐานสำหรับพัฒนาวัคซีนต่อต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด[12][13][14][15] ซาราห์ กิลเบิร์ตเป็นผู้นำโครงการวิจัยวัคซีนนี้ร่วมกับแอนดรูว์ พอลลาร์ด และคณะ[16] วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ChAdOx1 nCoV-19 หรือ AZD1222 ใช้ประโยชน์จากไวรัสพาหะนี้ โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม (peplomer) ของไวรัสโคโรนา[12][13] การศึกษาในสัตว์ทดลองเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และการทดลองในมนุษย์มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วม 510 คนสำหรับการทดลองในระยะ I/II ซึ่งเริ่มในวันที่ 27 มีนาคม[17][18][19] และผลการทดลองถูกนำเสนอในเดือนตุลาคม[20] ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 วัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้[21] ในโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสหราชอาณาจักร