การออกแบบโพรโทคอล ของ Session_Initiation_Protocol

โพรโทคอล SIP ถูกออกแบบมาคล้ายกับโพรโทคอล HTTP ในส่วนของการร้องขอและการตอบรับ (request/response) ระหว่างลูกข่าย (client) ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นการเชื่อมต่อ โดยส่งการร้องขอ (request) การทำงานบางอย่างกับเครื่องแม่ข่าย (server) และ SIP ยังใช้ข้อมูล header, กฎการเข้ารหัส และหมายเลขสถานะ (status codes) เหมือนกับ HTTP อีกด้วย

ในการส่งสัญญาณมีเดีย SIP จะต้องทำงานร่วมกับโพรโทคอลอื่น ๆ ในการส่งสัญญาณ แต่ SIP เท่านั้นที่จะถูกใช้เป็นตัวเริ่มต้นการสื่อสาร (communication session) โดยปกติ SIP ฝั่งลูกข่าย (client) จะใช้โพรโทคอล TCP หรือ UDP พอร์ตหมายเลข 5060 หรือ 5061 ในการเชื่อมต่อกับเครื่องแม่ข่าย (server) หรือ SIP endpoint โดยพอร์ตหมายเลข 5060 จะใช้ในการส่งสัญญาณแบบไม่เข้ารหัส (non-encrypted signaling traffic) ส่วนพอร์ตหมายเลข 5061 จะใช้ในกรณีที่มีการส่งสัญญาณแบบเข้ารหัส และจะทำงานร่วมกับ Transport Layer Security (TLS) อีกที โดยหลัก ๆ แล้ว SIP จะทำหน้าที่ติดต่อหรือยกเลิกการส่งสัญญาณเสียงหรือภาพวิดีโอ ซึ่งในโปรแกรมประยุกต์หลายชนิดจะใช้ SIP ในการส่งข้อมูลมิเดียเช่น โปรแกรม instant messaging ที่สามารถส่งภาพและเสียงพร้อมกันได้ นอกจากนี้ยังมีเอกสารหลากหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ SIP ซึ่งถูกประกาศโดย IETF เช่น Real-time Transport Protocol (RTP), Session Description Protocol (SDP) โดย SDP จะถูกใช้ร่วมกับ SIP สำหรับการทำข้อตกลง (negotiate) รูปแบบตัวแปรที่ใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูลมิเดีย เช่น หมายเลขพอร์ต, โพรโทคอล, การเข้ารหัสสัญญาณมิเดีย (codecs) โดยข้อมูลของ SDP เหล่านี้จะถูกส่งภายใต้ข้อมูลของ SIP packet body อีกที

เป้าหมายในการออกแบบโพรโทคอล SIP ก็เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเริ่มต้นการส่งสัญญาณโทรศัพท์ (signaling and call setup protocol) บนเครือข่ายแบบ IP-based และสามารถทำงานร่วมกับ public switched telephone network (PSTN) ที่มีอยู่เดิมได้ทันที และ SIP ถูกออกแบบมาโดยอ้างอิงถึงการเชื่อมต่อกันระว่าง proxy server และ user agents เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับการทำงานของโทรศัพท์มากที่สุด เช่น การส่งหมายเลข (dialing a number), การส่งสัญญาณกระดิ่ง (ringing), การส่งสัญญาญรอการเชื่อมต่อ (ring back) และการส่งสัญญาณสายไม่ว่าง (busy tone)

โพรโทคอล SIP ยังเพิ่มความสามารถพิเศษให้กับโพรโทคอล Signaling System 7 (SS7) อีกด้วย ถึงแม้ทั้งสองโพรโทคอลจะทำงานแตกต่างกันมาก เพราะ SS7 เป็นโพรโทคอลที่ทำงานอยู่บนแกนกลางของระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับเครื่องลูกข่ายจำนวนมาก ซึ่งจะแตกต่างกับ SIP ที่เป็นโพรโทคอลที่ทำงานแบบ peer-to-peer ที่ทำงานระหว่าง endpoint กับ endpoint

ถึงแม้ว่าจะมีโพรโทคอลหลากหลายที่ใช้งานบน VoIP signaling protocols แต่ SIP ยังเป็นที่นิยมในการสื่อสารแบบ IP community มากกว่า telecommunications industry นอกจาก SIP แล้วยังมีโพรโทคอล H.323 ของ International Telecommunication Union (ITU) ที่ทำงานลักษณะเดียวกันอีกด้วย

เอกสารการทำงานของ SIP เวอร์ชัน 2.0 ประกาศครั้งแรกใน RFC 2543 และถูกปรับปรุงอีกครั้งใน RFC 3261

ใกล้เคียง