Tenualosa_ilisha

ปลาตะลุมพุกฮิลซา (อังกฤษ: Hilsa shad, Ilisha, โอริยา: ଇଲିଶି, Ilishii, เบงกอล: ইলিশ, Ilish, เตลูกู: పులస, Pulasa หรือ Polasa, สินธี: پلو مڇي, Pallu Machhi) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenualosa ilisha อยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae)ปลาตะลุมพุกฮิลซา เป็นปลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะประเทศในแถบอ่าวเบงกอล เช่น บังกลาเทศ, อินเดียและพม่าเนื่องจากใช้เป็นอาหารบริโภคกันมาอย่างยาวนาน จนเสมือนเป็นสมบัติของชาติชิ้นหนึ่งของบังกลาเทศ[1]มีลักษณะคล้ายกับปลาตะลุมพุก (T. toli) มีเกล็ดบริเวณสันท้อง 30-33 เกล็ด ครีบใสและมีจุดสีดำที่ช่องปิดเหงือก เมื่อยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีจุดตามลำตัวสีต่าง ๆ เช่น สีเงิน, สีทอง และสีม่วง มีซี่กรองเหงือก 30-40 ซี่ ขณะที่ปลาตะลุมพุกจะมีมากกว่าคือ 60-100 ซี่[2] ความยาวเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร โดยปกติแล้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่ง กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เมื่อจะวางไข่จะอพยพเข้ามาสู่แหล่งน้ำจืด ได้แก่ แม่น้ำและปากแม่น้ำ เพื่อวางไข่ ลูกปลาจะฟักและเลี้ยงดูตัวเองในน้ำจืด พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อ่าวเปอร์เซีย, ภาคตะวันตกและตะวันออกของพม่า, อินเดีย และมีรายงานจากอ่าวตังเกี๋ยและแม่น้ำไทกริสในอิหร่าน ซึ่งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยปลาตะลุมพุกฮิลซา ปัจจุบันเป็นปลาที่พบได้มากและหลากหลายกว่าปลาตะลุมพุก ซึ่งปลาตะลุมพุกที่นำมารับประทานและมีการซื้อขายกันในตลาดในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะเป็นปลาชนิดนี้มากกว่า[3]และกล่าวกันว่าเป็นปลาระดับสูงกว่าปลาตะลุมพุก[2] โดยเนื้ออุดมไปด้วยกรดไขมันที่มีความสำคัญ อาทิ โอเมกา 3[4]