การทำพิธี ของ กงเต๊ก

ช่วงเตรียมของกงเต๊กนี้ พระจีนจะเป็นผู้เขียน "ใบส่งของ" ให้เหมือนเป็นการจ่าหน้าซองจดหมาย เพื่อให้รู้ว่าผู้รับของคือใคร ผู้ส่งคือใคร ใบกระดาษบอกชื่อผู้ส่งผู้รับนี้ ต้องปิดบนของกงเต๊กทุกชิ้น เช่นเดียวกับที่ลูกหลานต้องเอาเสื้อของผู้ตาย เลือกตัวที่ผู้ตายชอบมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ตายน่าจะจำลายผ้าได้เนื่องจากเสื้อผ้าจะต้องถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อแปะติดไปกับของทุกชิ้น เพื่อที่ผู้ตายจะได้รู้ว่ากองของกงเต๊กที่เผาไปนี้เป็นของท่านและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาเอาของผิดกองเช่นกัน เพราะแต่ละวันแต่ละวัดจะมีพิธีกงเต๊กซ้อนกันหลายงาน

จากนั้นพระจะประจำที่เพื่อเริ่มพิธีสวดมนต์ ลูกหลานจะใส่ชุดกระสอบเต๊กชุดใหญ่ นั่งประจำหน้าที่พระพุทธ ลูกชายนั่งหน้าสุด ลูกสะใภ้ลูกสาวนั่งแถวสอง ชั้นเขยและชั้นหลานนั่งแถวหลังตามมา ที่เบื้องหน้าลูกชายมี ม้ากงเต๊ก

พิธีเริ่มด้วยการเปิดกลอง 3 ตูมดัง ๆ ปี่พาทย์มโหรีบรรเลงรับพระสวด ประสานมนต์ที่หน้าพระพุทธ และพระโพธิสัตว์ พิธีกรรมช่วงนี้ เรียกง่าย ๆ ว่า สวดเปิดมณฑลสถาน คืออัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล ในช่วงระหว่างพิธีสวด หลังจากที่พระอ่านเอกสารเรียกว่าฎีกา (ภาษาจีนรียกส่อบุ่ง) ที่ระบุ ชื่อผู้ตาย ที่อยู่ที่เมืองจีน ที่อยู่เมืองไทยบ้านเลขที่ ซอย ถนน เวลาเกิด เสีย ของผู้ตาย และบรรดาชื่อลูกหลาน และระบุว่า ในขณะนี้กำลัจะประกอบพิธีใดที่ไหน เวลาอะไร แล้วก็จะนำเอาฎีกานั้นมาใส่ที่ม้ากงเต๊กพร้อมด้วยการทำพิธีที่ม้า ท่านจะเอาธูป 3 ดอก และเทียนเล่มหนึ่งมาเขียนยันต์ที่หัวม้า พร้อมสวดคาถา และพรมน้ำมนต์จากถ้วยเล็ก ๆ ด้วยนิ้วอย่างมีลีลาน่าดู แล้วใช้ใบทับทิมพรมตามอีกที จากนั้นพระจะสั่งให้ลูกชายคนโตยกม้ากงเต๊กขึ้นจบเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปเผา ระหว่างพิธีตอนนี้พระรูปอื่นก็ยังสวดมนต์อยู่

หลังจากสวดมนต์เปิดมณฑลสถานเสร็จพระสงฆ์จะพาลูกหลานมายังหน้าโต๊ะไหว้ผู้ตาย (เลงไจ้ ที่สถิตย์ของวิญญาณ) เพื่อทำพิธีสวดเชิญวิญญาณของผู้ตามให้มาร่วมพิธี ในระหว่างที่สวด พระสงฆ์จะทำการเปิดรัศมี (ไคกวง) โคมวิญญาณซึ่งมีชื่อผู้ตายและเสือผ้าของผู้ตายสวมอยู่ กระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ รูปถ่าย ของผู้ตาย เพื่อให้ป็นที่สถิตย์แห่งวิญญาณของผู้ตาย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะก็นำบรรดาของไหว้คือ

  1. ข้าว 1 ชาม
  2. เหล้า 1 แก้ว
  3. น้ำชา 1 แก้ว
  4. กับข้าว 3 อย่าง
  5. ซาแซ 1 ชุด (หมู ไก่ เป็ด ปลา ตับ)
  6. ผลไม้ 5 อย่าง
  7. ชกก๊วย 1 อัน สีขาว และให้ลูกหลานจบถวาย เมื่อพระสวดเสร็จ ลูกหลานกราบพระ 3 ครั้ง

พิธีต่อมา คือ การเชิญวิญญาณผู้ตายมาร่วมพิธีชำระดวงวิญญาณ (มก-ยก) มักทำในช่วงบ่ายต้น ๆ พระและลูกหลานย้ายมาที่บริเวณหน้าศพ มีการนำห้องน้ำกงเต๊กมาวาง ภายในห้องน้ำมีอ่างขาวใส่น้ำสะอาด และผ้าขนหนูสีขาว ขั้นแรก พระสงฆ์จะสวดเจริญพุทธมนต์เชิญดวงวิญญาณมาร่วมในพิธีและอ่านฎีกา เพื่อขอนำวิญญาณผู้ตายมายังสถานที่ประกอบพิธี หลังจากนั้นจะนำฎีกา ใส่ยังนกกงเต๊ก ให้ลูกชายยกขึ้นจบแล้วเจ้าหน้าที่เอาไปเผา และยกโคมวิญญาณมาให้พระท่านถือไว้ถูกย้ายมาตั้งด้านหน้า พิธีกรรมในช่วงนี้คือ การสวดเชิญวิญญาณมาเข้าพิธี ต่อมาเจ้าหน้าที่จะเอาเสื้อผ้ากงเต๊กมาให้ลูกชายไหว้จบ เพื่อเอาไปเผา หลังจากพระสวดไปได้ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่จะเชิญ ลูกชายคนโต มาเชิญกระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ (ในกรณีธรรมเนียมกวางตุ้ง) ไปยังห้องน้ำ และพระสงฆ์จะสวดมนต์และทำน้ำพระพุทธมนต์ ให้เจ้าหน้าที่นำไปประพรม กระถางธูปหรือป้าย พร้อมกับเทน้ำพระพุทธมนต์ส่วนหนึ่งลงไปในอ่างน้ำที่เตรียมไว้ หลังจากนั้น พระสงฆ์จะสวดมนต์ครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จะให้ลูกคนโตเชิญกระถางธูปมายังโต๊ะที่พระสงฆ์สวดมนต์อยู่ เพื่อให้พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้ง และจากนั้นพระสงฆ์จะนำลูกหลานเดินไปยังหน้าปะรำพระพุทธ โดยลูกชายคนโตจะเชิญกระถางธูป และลูกชายคนรองถือโคมวิญญาณตามไปด้วย แล้วพระสงฆ์จะสวดขอขมากรรมแทนผู้ตาย ในช่วงนี้ลูกหลานจะต้องกราบพระแทนวิญญาณผู้ตาย หลังจากนั้น พระจะพาเดินกลับไปยังหน้าโต๊ะผู้ตายอีกครั้ง เพื่อเชิญกระถางธูปกลับที่ เป็นอันจบพิธี ซึ่งในพิธีมีความหมายเพื่อชำระอกุศลกรรมขอผู้ตาย ที่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่อาจได้กระทำกรรมใดไว้โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ บันนี้ลูกหลายของผู้ตาย อาศัยความกตัญญูขอขมากรรมเหล่านั้นแทนท่าน


เมื่อเสร็จพิธี ลูกสะใภ้จะถูกตามตัวให้ยกอ่างน้ำในห้องน้ำกงเต๊กไปเททิ้งตามธรรมเนียมที่ลูกสะใภ้ต้องปรนนิบัติพ่อแม่สามี ถ้าไม่มีสะใภ้ก็เป็นหน้าที่ลูกสาวไปแทน

ช่วงบ่ายแก่ ๆ เป็นการไหว้ใหญ่แก่บรรพบุรุษ ของไหว้ประกอบด้วย

  1. ข้าวสวย อย่างน้อย 6 ชาม
  2. เหล้า อย่างน้อย 6 แก้ว
  3. น้ำชา อย่างน้อย 6 แก้ว
  4. กับข้าว 5 อย่าง (เตี่ยเอี๊ยใช้กับข้าว 10 ชาม)
  5. เจฉ่าย
  6. ซาแซหรีอโหงวแซ 1 ชุด
  7. ผลไม้ 5 อย่าง 1 ชุด
  8. ขนมอี๋ อย่างน้อย 6 ถ้วย
  9. ฮกก๊วยปั๊มสีแดง
  10. อั่งถ่อก๊วย
  • จำนวนตะเกียบ จะมีเท่าจำนวนถ้วยข้าว
  • ไหว้บรรพชนนับจากผู้ตายย้อนขึ้นไป3รุ่น คือ พ่อแม่ของผู้ตาย ปู่ย่าของผู้ตาย และปู่ทวดย่าทวดของผู้ตาย

พระทำพิธีสวดมนต์จนถึงตอนที่ลูกหลานต้องทำการไหว้ อาหารให้บรรพบุรุษ เมื่อไหว้สำรับกับข้าวบนโต๊ะแล้ว ก็ตามด้วยการไหว้กระดาษเงิน กระดาษทอง

การไหว้หีบเสื้อผ้าให้บรรพบุรุษ ซึ่งจำนวนหีบเสื้อผ้านั้น จะไม่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยจะนับตามจำนวนของลูกใน คือคนในแซ่ จึงได้แก่ฝ่ายชายและสะใภ้ส่วนลูกนอกคือลูกสาวถือว่าแต่งงานไปแล้วใช้แซ่อื่น คือ ไปเป็นคนในตระกูลอื่นก็จะไม่ไหว้และไม่ฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ แต่ถ้าลูกสาวจะฝากหีบเสื้อผ้าไปให้ด้วยก็ไม่ผิด แต่อย่างใดเสร็จจากการไหว้บรรพบุรุษจะเป็นพิธี "ซึงกิมซัว" แปลว่า ทลายภูเขาทอง เพื่อเป็นนัยอวยพรให้ลูกหลานรุ่งเรือง โดยเป็นการแสดงรำธงของพระจีนปลอม คือผู้ชายใส่ชุดพระสีแดงพร้อมหมวกพระจีนออกมาแล้ว แสดงโชว์เป็นธรรมเนียมเฉพาะ ของคนจีนอำเภอเตี้ยเอี้ยและเป็นธรรมเนียมว่าลูกสาวที่ออกเรือนแล้วจัดมาไหว้บุพการีให้ได้ชมก่อนจะถึงพิธีกรรมการพาข้ามสะพานกงเต๊กไปไหว้พระพุทธในแดนสวรรค์

ก่อนเริ่มพิธีจะต้องมีการไหว้บูชา โดยลูกสาวที่ออกเรือนแล้วเท่านั้นมาจุดธูปไหว้ บอกผู้ตายว่าจะไหว้ "ซึงกิมซัว" ที่หน้าโต๊ะไหว้ ที่ตั้งพิเศษอัญเชิญภาพปฏิมาขององค์อมิตาภพระพุทธเจ้ากับของพิเศษอย่างหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นถาดใส่ข้าวสาร ขันน้ำมนต์ เหรียญสตางค์ พร้อมซองอั้งเปา นับตามจำนวนลูกของผู้ตาย ซึ่งถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายคนโต ก็ต้องนับเพิ่มอีกหนึ่ง

การข้ามสะพานโอฆสงสาร

พิธีกรรมข้ามสะพานโอฆสงสารของลูกหลาน คือการที่พระพาดวงวิญญาณไปส่งแดนพุทธเกษตร โดยมีลูกหลาน กตัญญูตามมาส่งด้วย นั่นเอง ส่งเสร็จก็ข้ามกลับโดยทุกครั้งที่ข้ามสะพานลูกหลานทุกคนต้องโยนสตางค์ลงในอ่างน้ำ ประหนึ่งเป็นการซื้อทางให้แก่ผู้ตายและตนเอง แต่จะมีข้อสำคัญว่า ถ้าลูกหลานที่เป็นผู้หญิงใครมีประจำเดือนจะไม่ให้ข้ามสะพานทำให้ผู้ตายไปไม่ได้

ก่อนเริ่มพิธีลูกชายคนโตจะต้องไปไหว้บูชาสะพานไหว้ธูป 2 ดอก ขนม และกระดาษเงินกระดาษทอง

พิธีเริ่มจากการสวดมนต์ของพระที่ปะรำหน้าศพ สวดจนได้จังหวะของบทตอน พระทั้งหมดก็จะเดินขบวน โดยพระรูปที่ 2 จะเป็นผู้ถือโคมวิญญาณ ต่อจากแถวพระคือขบวนลูกหลาน โดยจะไล่ตามศักดิ์ และอาวุโส ลูกในที่นี้คือลูกชายนำหน้า ลูกชายคนโตคือหัวขบวน ตามด้วยลูกชายคนต่อ ๆ มา ถ้าลูกชายคนโตมีลูกชายตามศักดิ์แล้วลูกชายคนโตของลูกชายคนโตเท่านั้น ก็จะมาต่อท้าย เป็นลูกชายคนเล็ก แล้วจึงตามด้วยลูกสะใภ้ แล้วตามด้วยลูกสาว ตามด้วยลูกเขย แล้วตามด้วยชั้นหลาน

การข้ามสะพานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงข้ามไปและช่วงข้ามกลับ ช่วงแรกจะเป็นการพา ดวงวิญญาณข้ามไปส่ง แดนสวรรค์ เมื่อข้ามไปถึงพระจะหยุดขบวน พระจะวางโคมวิญญาณลงกับที่ เหล่าพระทั้งหมดล้วนก้มกราบพระพุทธ มีการจุดธูป 3 ดอก ให้ลูกชายคนโตไหว้ เพื่อเป็นการไหว้พระพุทธแทนตัวผู้ตาย แล้วปักธูปลงในกระถางธูปของผู้ตายเองจากนั้นขบวนพระก็จะพาขบวนลูกหลานข้ามกลับมายังโลกมนุษย์ โดยจะไม่ถือโคมวิญญาณกลับมาด้วย และขากลับจะต้องข้ามสะพานสวนทางกับขาไป ข้ามไปกี่รอบก็ต้องข้ามกลับจำนวนรอบเท่าเดิม

เมื่อถึงโลกมนุษย์ ขบวนพระก็หยุด ลูกชายคนโตจะนำกระถางธูปไปวางไว้ที่ปะรำหน้าศพ เจ้าหน้าที่จะนำหีบเสื้อผ้าของผู้ตายมาวางโดยมีโคมวิญญาณวางซ้อนบนหีบเสื้อผ้าอีกที จากนั้นลูกหลานนั่งฟังพระสวดต่อ จนจบหนังสือมนต์เล่มสุดท้าย ซึ่งทุกครั้งที่มีการสวดมนต์จบเล่ม พระจะต้องนำ หนังสือมนต์นี้มา ให้ลูกชายเปิดดู แล้วยกสวดมนต์นั้นขึ้นจบถวาย เล่มสุดท้ายก็เช่นกัน

เสร็จพิธี ลูกหลานจะกราบหน้าศพ 4 ครั้ง แล้วเหี่ยมหีบเสื้อผ้ากับโคมวิญญาณเพื่อนำไปเผา เช่นเดียวกับบรรดาของกงเต๊กอื่น ๆ ทั้งหมด ลูกหลานต้องช่วยกันเหี่ยมโดยมีหลักการว่าคนอื่นอาจช่วยยกของได้ แต่ลูกหลานเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหลาย และต้องเหี่ยมทุกชิ้นไม่ขาดตกสิ่งใด