ประวัติการพิมพ์เผยแพร่กฎหมายตราสามดวง ของ กฎหมายตราสามดวง

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กฎหมายตราสามดวงได้เคยถูกพิมพ์เผยแพร่มาแล้วอย่างน้อย 10 ครั้งดังนี้

  1. พิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ปีระกา จุลศักราช 1211 พ.ศ. 2392 พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้นำตีพิมพ์ไว้เพียงเล่ม 1 ยังไม่จบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด กริ้วว่า นำกฎหมายหลวงมาพิมพ์เผยแพร่ จึงยึดไปเผาทำลายเกือบทั้งหมด (อาจมีเหตุผลว่าในสมัยโบราณถือว่าบรรดาความรู้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของหลวงหวงห้าม จะรู้ได้เฉพาะชนชั้นปกครองเท่านั้น)
  2. พิมพ์ครั้งที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2406 หมอบรัดเลย์ได้ตีพิมพ์จำหน่ายรวม 2 เล่ม เรียกชื่อว่า กฎหมายเมืองไทย 2 เล่ม หรือ กฎหมายหมอบรัดเลย์
  3. พิมพ์ครั้งที่สาม พิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2444 แต่ไม่ระบุว่าเป็นปี พ.ศ.ใด หลวงดำรงธรรมสาร ผู้พิพากษาศาลอาญาจัดพิมพ์ขึ้น เรียกชื่อว่า กฎหมายเก่าใหม่
  4. พิมพ์ครั้งที่สี่ ใน ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงจัดบทใหม่ อธิบายเหตุผลในหัวข้อกฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้พิพากษา และเป็นคู่มือทนายว่าความเรียกว่ากฎหมายราชบุรี มี 2 เล่ม
  5. พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. 2473 โรงพิมพ์นิติสาสน์ ได้ถ่ายทำแม่พิมพ์จากสมุดไทย พิมพ์เผยแพร่ไว้ในชุด "ประชุมกฎหมายไทย"
  6. พิมพ์ครั้งที่หก พ.ศ. 2474 ราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์ เฉพาะลักษณ์อาชญาหลวงและลักษณะอาชญาราษฎร์ ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาลพะนรินทร์ เรืองศักดิ์
  7. พิมพ์ครั้งที่เจ็ด ระหว่าง พ.ศ. 2481–2482 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้ให้ ร.แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศสเป็นผู้ชำระใหม่และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม เรียกว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวงตรา 3 ดวง
  8. พิมพ์ครั้งที่แปด หลังจากการพิมพ์ครั้งที่เจ็ดเล็กน้อย นายร้อยตำรวจโทเสถียร ลายลักษณ์ ได้พิมพ์บทกฎหมายตราสามดวงในหนังสือ ประชุมกฎหมายประจำศก ซึ่งมีจำนวน 69 เล่ม โดยกฎหมายตราสามดวงอยู่ในเล่มที่ 3 และ 4
  9. ในยุคปัจจุบันนี้ มีการจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงอีกสามครั้ง คือ องค์การค้าของคุรุสภา 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2515 และของกรมศิลปากร 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2521 โดยในการพิมพ์ยุคปัจจุบันได้ยึดต้นฉบับของ ร.แลงกาต์ ซึ่งถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเป็นบรรทัดฐาน
  10. ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2548 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ จัดพิมพ์ กฎหมายตราสามดวง โดยใช้ชื่อหนังสือชุดนี้ว่า "กฎหมายตรา 3 ดวง : ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่" ซึ่งมี 3 เล่ม ใน 1 ชุด โดยยึดเอา "ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166" ฉบับปี พ.ศ. 2481 เป็นหลัก เพราะ ถือว่าเป็นกฎหมายตราสามดวงฉบับพิมพ์ที่ดีที่สุดแล้ว