มลตาย ของ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

การตีความว่ากฎหมายใดบ้างที่เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญเพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีความใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญมาก หากรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญย่อมถูกยกเลิกไปด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด และไม่ต้องยกเลิกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวคิดในการตีความกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมี 2 แนวคิดดังนี้

แนวคิดอย่างกว้าง

แนวความคิดนี้เห็นว่ากฎหมายทุกอย่างที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งหากยึดถือแนวความคิดนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ต่างไปจาก กฎหมายธรรมดา นอกจากเนื้อหาเท่านั้น ส่วนกฎหมายที่รัฐธรรมนูญระบุให้ออกแต่มิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็มิใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคงมีฐานะเป็นแต่กฎหมายธรรมดาเท่านั้น แนวคิดนี้เป็นแนวที่เปิดกว้างให้ศาลเป็นผู้ตีความว่ากฎหมายใดเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ

แนวคิดอย่างแคบ

แนวคิดนี้มองว่า เฉพาะกฎหมายที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ให้ออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แม้จะมีเนื้อหาใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดั่งในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 (ฉบับปัจจุบัน) ซึ่งเป็นต้นแบบของแนวคิดนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องที่ให้ออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้หลายเรื่อง เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี การแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนและทหารระดับสูง ตุลาการรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หรืออย่างกรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 9 ฉบับ แนวคิดนี้ก็จะมองว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็จะมีเฉพาะที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น กฎหมายอื่นแม้จะมีเนื้อหาใกล้ชิดกับรัฐธรรมนูญ หรือว่าจะเป็นเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ก็ไม่จัดว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมักใช้แทนคำว่า organic law หรือ fundamental law ในภาษาอังกฤษ แต่ต้องระลึกเสมอไว้ว่าคำว่า organic law และ fundamental law มีความหมายไม่ตรงกับคำว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสียทีเดียว เพราะ organic law มีความหมายถึงกฎหมายพื้นฐานของรัฐที่ใช้ในการจัดระบบและองค์กรของรัฐ และ fundamental law หมายถึงกฎหมายที่ใช้ในการวางหลักการพื้นฐานของรัฐ ซึ่งในบางครั้งอาจมีความหมายเท่ารัฐธรรมนูญก็ได้