การละเมิดลิขสิทธิ์ ของ กฎหมายลิขสิทธิ์ไทย

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดพฤติกรรมใดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นไว้ชัดเจน ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่งานต่อสาธารณชน ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นได้เพิ่มการกระทำละเมิดอีกอย่างหนึ่งไว้ คือ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน หากผู้ใดกระทำการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับโทษอาญาและจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงานด้วยหากผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการต่อไปนี้แก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ได้แก่

  1. ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
  2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
  3. แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
  4. นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

การละเมิดนำงานลิขสิทธิ์ไปหากำไรโดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ได้ จะใช้ลงโทษ เจ้าของร้านค้า ผู้จัดการ ลูกจ้างที่รู้ชัดหรือมีเหตุควรรู้ว่า กำลังขาย เผยแพร่ นำเข้า งานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนั้น ร้านค้าใดขายแผ่นซีดีเพลงหรือภาพยนตร์ หนังสือ ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่ต้องรับโทษในคดีประเภทนี้ คือ เจ้าของร้าน ผู้จัดการ ลูกจ้างขายของ ซึ่งต้องรู้หรือควรรู้ว่ากำลังจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย พวกเขาจึงรับโทษอาญาหรือจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของงาน กรณีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่ละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น นอกจากนักเขียนที่ลอกหรือดัดแปลงงานนั้นต้องรับโทษอาญาแล้ว หากสำนักพิมพ์ทราบว่าผลิตงานโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานก่อน แล้วยังออกจำหน่ายอีก จะต้องรับโทษร่วมกับนักลอกด้วยซึ่งการทำเพื่อเห็นแก่การค้าหากำไร ผู้กระทำจะรับโทษจำคุกสูงขึ้นและปรับมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น การผลิตงานเผยแพร่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีการแจ้งเตือนให้พิจารณาว่าละเมิดงานลิขสิทธิ์ ต้องรีบตรวจสอบทันทีและงดเผยแพร่งานเพื่อมิให้ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนักคัดลอกด้วย แต่สำนักพิมพ์มิได้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากนักคัดลอกที่สร้างความเสียหายแก่องค์กรของตน หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากนักคัดลอกเหล่านั้นจะเป็นการปรามนักคัดลอกรุ่นต่อไปมิให้ยึดเป็นเยี่ยงอย่างด้วยและลดความเสียหายของตนลงได้