ในประเทศไทย ของ กฎอัยการศึก

กฎอัยการศึกของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติ ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 มีทั้งสิ้น 9 มาตรา โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส ต่อมาใน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าอำนาจของทหารตามกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 นั้นยึดตามแบบฝรั่งเศส แต่ไทยใช้ตำราพิชัยสงครามตามแบบอินเดีย ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตรา กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457[1] ขึ้นใช้แทน มีทั้งสิ้น 17 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง

ราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ครั้งแรก ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476[2]ในกรุงเทพมหานครและจังหวัพระนครศรีอยุธยา

ครั้งที่ 2 ประกาศใช้ ใน 24 จังหวัด ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484 เวลา 6.00 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 [3]

ครั้งที่ 3 ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 20.45 ถึง วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489[4]เป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรยาวนานที่สุดของประเทศไทย

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลายครั้ง โดยสถิติที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

พื้นที่ที่ใช้กฎอัยการศึกยาวนานที่สุดของประเทศไทยคือ อำเภอสะเดา โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนานถึง 24 ปี 1 เดือน 8 วัน

รองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส เฉพาะ อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอศรีสาคร และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลาเฉพาะอำเภอกาบัง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง และอำเภอยะหา มีการประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นระยะเวลา 14 ปี 4 เดือน 26 วัน

มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ยาวนาน 10 เดือน 11 วัน เป็นการประกาศกฎอัยการศึกเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์

การยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ใด จะต้องประกาศออกมาเป็นพระบรมราชโองการ