ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ ของ กบฏดุซงญอ

ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล

จอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ โดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการ และ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจังหวัดนราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน

คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ แจ้งว่าการจลาจลเกิดจากความเข้าใจผิด ราษฎรมาชุมนุมกันมากเพื่อเข้าร่วมพิธีทางไสยศาสตร์ จนเป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าตรวจค้น ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการปะทะกัน[6] เนื่องจากพบว่าคนในพื้นที่ไม่พอใจมาก อับดุลลา หวังปูเต๊ะ เสนอให้เชิญตนกู มะไฮยิดดินเข้ามาปรึกษาในกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำตาม[7]

ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่

ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า[8]

...ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น...

ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 – 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์

การอพยพของคนไทยเข้าสู่มาลายายังเกิดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามาลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป[9]

ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ

นายแพทย์เจริญ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี และบรรจง ศรีจรูญ ประธานสันนิบาตไทยอิสลาม ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวไทยในมุสลิมให้ดีขึ้น ขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหลักการไว้พิจารณา[10]

ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมาลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด[11]

ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมาลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมาลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมาลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น

การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มาลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ[12]