ลำดับเหตุการณ์ ของ กบฏยังเติร์ก

คณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการสภาปฏิวัติ" เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน โดยจับตัวพลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโท หาญ ลีนานนท์, พลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรี วิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ใจความว่า

เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน[2]

พร้อมกับได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง พร้อมกับเปิดเพลงปลุกใจออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดเวลา ขณะที่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครมีการตั้งบังเกอร์ กระสอบทราย และมีกำลังทหารพร้อมอาวุธรักษาการณ์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งมีการอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นสัญลักษณ์ด้วย[3]

ทางฝ่ายรัฐบาล โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2

การตอบโต้กลับของทางรัฐบาล เริ่มต้นด้วยการโดยส่งเครื่องบินเอฟ-5อี[3] บินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย มีทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเป็นเวลา 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนจบ

ขณะที่แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ พันเอก มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา ซึ่งต่อมาคณะนายทหารเหล่านี้นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศน์ บ้านพัก ในวันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่พลเอกสัณห์ เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ[4]

ใกล้เคียง