วิวัฒนาการของการข้าวไทย ของ กรมการข้าว

ในวงการราชการที่เกี่ยวข้องกับการข้าวไทย เริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งในปี พ.ศ. 2444 ได้มีการจัดตั้งกรมช่างไหม และมีการประกวดพันธุ์ข้าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เมืองธัญบุรี ในปี พ.ศ. 2450 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อกรมช่างไหมเป็น "กรมเพาะปลูก" มีหน้าที่ทำการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงไหม ปศุสัตว์ และการเพาะปลูก จนกระทั่งมีการจัดตั้ง สถานีทดลองคลองรังสิต นับเป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของไทย ที่ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ในปี พ.ศ. 2478 มีการจัดตั้ง "แผนกข้าว" ขึ้นในสังกัดกองขยายการกสิกรรม กรมเกษตรและการประมง (หรือกรมการกสิกรรมในเวลาต่อมา) ซึ่งในปี พ.ศ. 2481 ได้ยกฐานะแผนกข้าวขึ้นเป็น "กองการข้าว" และมีการสถาปนา "กรมการข้าว" ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496 ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการยุบรวมกรมการข้าว เข้ากับกรมกสิกรรมอีกครั้ง จึงทำให้กรมการข้าว มีฐานะเป็นกองการข้าว สังกัด กรมวิชาการเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันวิจัยข้าว" ในปี พ.ศ. 2525

ยุคกรมการข้าวในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลข้าวไทยขึ้น มีชื่อว่า "สำนักงานข้าวแห่งชาติ" มีฐานะเทียบเท่ากรม จนกระทั่งวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2549 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมให้จัดตั้งกรมการข้าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผลให้เกิด "กรมการข้าว" ขึ้นจนปัจจุบัน

โดยการจัดตั้งกรมการข้าวในครั้งนี้ มีหลักการและเหตุผลซึ่งระบุในท้ายพระราชบัญญัติ ความว่า "เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องข้าวมีอยู่หลายหน่วยงานและกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสมควรให้มีการจัดตั้งกรมการข้าวขึ้นมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะ ให้ครอบคลุมถึงการปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์การผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมและเผยแพร่เพื่อพัฒนาชาวนา การแปรรูปและการจัดการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"[2]