การแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ของ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถูกสงสัยมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์ว่าคิดจะชิงราชสมบัติจึงได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

ก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมอันมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม เพราะกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" จึงเป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์[4]

ใกล้เคียง