ประวัติ ของ กรมไปรษณีย์โทรเลข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม เพื่อดูแลกิจการไปรษณีย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก และได้เปิดรับฝากส่งหนังสือ (จดหมาย) ในเขตพระนครและธนบุรีเป็นการทดลองเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ที่ทำการแห่งแรกตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า "ไปรษณียาคาร" ในวันเดียวกันยังมีการจัดตั้งกรมโทรเลข เพื่อดูแลกิจการโทรเลข ซึ่งเป็นการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นกิจการแรกของประเทศสยาม

ในปี พ.ศ. 2429 กรมโทรเลข (ซึ่งได้ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้) ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหมมาดำเนินการ และขยายบริการโดยเปิดให้ประชาชนได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในกรุงเทพและธนบุรีเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการยุบรวมกิจการกรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ใช้ชื่อใหม่ว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" โดยดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรศัพท์ และโทรเลข และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้รับโอนคลังออมสินจากกรมพระคลังมหาสมบัติ มาดำเนินการรับฝากเงินจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2472 และได้แยกคลังออมสินออกไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ ธนาคารออมสิน ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490[1] และมีการโอนกิจการกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯ และธนบุรี ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497

ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการและกิจการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ[2] เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ซึ่งต่อมาได้มีการแปรรูปเป็นบริษัท 2 บริษัท คือ ไปรษณีย์ไทย และ กสท โทรคมนาคม มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ใกล้เคียง

กรมไปรษณีย์โทรเลข กรมไปรษณีย์สหรัฐ กรมประมง กรมประชาสัมพันธ์ กรมป่าไม้ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมปศุสัตว์ กรมปรึกษาราชบัลลังก์ กรมประชาชน