กระดาษดำ

กระดาษดำ ชื่อวิทยาศาสตร์: Xanthosoma nigrum เป็นพืชในวงศ์บอน (Araceae) เป็นไม้ล้มลุกอายุยืน มียาง หัวรูปร่างสั้นป้อม ผิวเรียบ สีเทาแกมม่วง มีตาสีแดงแกมม่วง เนื้อหัวสีม่วง แดง ชมพู เหลืองหรือขาว ก้านใบสีม่วง หรือเขียวแกมน้ำตาล แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ขอบใบสีม่วง ผิวใบด้านล่างสีเขียวอ่อนเหลือบม่วง เส้นใบสีเขียวหรือม่วงเข้มมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ต่อมากระจายพันธุ์ไปยังแอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย หัวและใบอ่อนรับประทานได้ ทั้งต้ม อบปิ้งหรือใส่ในแกง หรือสกัดแป้งเพื่อทำขนม หัวย่อยของกระดาษดำเมื่อสุกเป็นเมือกมาก ในอินโดนีเซียไม่ใคร่นิยมแต่เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ ใบใช้ห่มให้ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ช่วยให้เย็นสบาย ในเกาะปาลาวัน ฟิลิปปินส์ ใช้ของเหลวจากช่อดอกรักษาแผลและถอนพิษแมลงกัดต่อย หลายพันธุ์มีแคลเซียมออกซาเลตในใบและหัวทำให้ระคายเคืองในปากและลำไส้ ซึ่งลดพิษได้โดยการทำให้สุก ในอินโดนีเซียมี 3 พันธุ์คือ พันธุ์ใบเขียว หัวสีขาว พันธุ์ก้านใบและเส้นใบสีน้ำเงินแกมม่วง หัวสีขาว และพันธุ์ที่ก้านใบเป็นแถบเขียวหรือน้ำเงิน หัวสีเหลืองมีของเหลวคล้ายน้ำนมมาก พันธุ์นี้ไม่เหมาะที่จะรับประทาน เพราะทำให้คัน