ลักษณะ ของ กล้วยพัด

กล้วยพัดมีความโดดเด่นที่ใบเรียงตั้งขึ้นคล้ายพัดจีน เป็นพืชพื้นเมืองของเกาะมาดากัสการ์ ในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนในประเทศไทยนั้น นำพันธุ์เข้ามาปลูกครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นการนำมาโดยคณะสงฆ์จากประเทศศรีลังกา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า กล้วยลังกา นิยมปลูกตามวัดวาอาราม สถานที่ราชการและในราชวังโบราณต่างๆ ปัจจุบันมีการปลูกกล้วยพัดในสถานที่ต่างๆ มากมาย เพราะมีลักษณะลำต้นไม่ใหญ่เกินไป รูปทรงสวยงาม ดูแลง่าย และไม่ทิ้งกิ่งก้านหรือใบให้เกะกะ

กล้วยพัดเป็นพืชมีเหง้า มีก้านใบยาว ใบสีเข้ม ยื่นดิ่งขึ้นจากโคนต้น ยาวเต็มที่ราว 3 เมตร และกว้างราว 25-50 เซนติเมตร มีเหง้าฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อโตขึ้นจึงโผล่พ้นดิน แผ่ใบเป็นสมมาตร รวมความสูงทั้งหมดเต็มที่ 9-18 เมตรเลยทีเดียว ส่วนขนาดลำต้นนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 30 เซนติเมตร ตรงโคนใบมีลักษณะโค้งอุ้มน้ำได้มากถึง 1 ลิตร ด้วยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า traveller’s tree หรือ traveller’s palm เพราะนักเดินทางสามารถดื่มน้ำจากหลายๆ ส่วนของพืชชนิดนี้ ทั้งที่ซอกโคนใบ และช่อดอกของกล้วยพัด ได้อย่างดี

ดอกของกล้วยพัดมีสีขาวขุ่น ขนาดเล็ก กระจุกเป็นช่อ มีช่อดอกยาวถึง 30 เซนติเมตร ออกดอกได้ตลอดปี และมีผลสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดสีฟ้า