การอนุรักษ์ ของ กวางผาจีน

สถานภาพของกวางผาจีน ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน พบว่ามีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีชื่อเรียกของผู้คนในท้องถิ่นว่า "ม้าเทวดา" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลึกลับ หายากมาก และเมื่อพบเห็นตัวก็จะหลบหนีไปด้วยความรวดเร็ว[7] โดยถูกล่าเพราะมีความเชื่อว่าน้ำมันจากกะโหลกของกวางผาจีนมีคุณสมบัติทางยาสมานกระดูกรักษาโรคไขข้ออักเสบได้เหมือนกับของเลียงผา[8]

โดยมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์เพียง 2 ตัว ชื่อ "ม่อนจอง" และ"ซีเกมส์" ที่ได้รับมาจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ได้มีการปล่อยกวางผาจีนที่เพาะขยายพันธุ์ได้สู่ธรรมชาติทั้งหมด 9 ตัว และมีการติดปลอกคอวิทยุเพื่อทำการติดตามศึกษาต่ออีกด้วย[8]

  • เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยข่าวดีว่าแนวโน้มประชากรกวางผาในพื้นที่ดอยเชียงดาว ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว, จังหวัดเชียงใหม่ สำรวจพิกัดจำนวน15จุด ในความสูงมากกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบกวางผาจำนวน 90 ตัว โดยแยกเป็นตัวเต็มวัย65ตัว ตัวไม่เต็มวัย17ตัว และลูกเล็ก8ตัว นับเป็นประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่การสำรวจของพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว