ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ของ กอทิกอ็องฌ์แว็ง

สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอ็องฌ์แว็งนี้มีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งต่างกับกอทิกแบบทั่วไป (หรือ อีล-เดอ-ฟร็องซ์) ซึ่งประกอบด้วยซุ้มประตูทางเข้าจำนวนสามซุ้ม โดยบริเวณด้านข้างของวิหารจะไม่พบครีบยันลอย (เหมือนที่มหาวิหารแห่งปัวตีเย ซึ่งบริเวณกำแพงด้านนอกเป็นเพียงแค่ผนังเรียบๆธรรมดา)

สันเพดานโค้ง(เกือบครึ่งวงกลม)แบบกอทิกอ็องฌ์แว็งที่วิหารน็อทร์-ดามแห่งปุย

แต่สิ่งที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบนี้ คือ เพดานโค้งภายในอาคาร ซึ่งจะลึกและแคบกว่าปกติ (หมุดกลางเพดานมักจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงและลึกกว่าเพดานโค้งครึ่งวงกลม) โดยถ้าในสถาปัตยกรรมกอทิกแบบทั่วไป หลุมเพดานจะตื้นและแบนกว่า (หมุดกลางเพดานมักจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับแนวเพดานโค้งครึ่งวงกลม)

บริเวณเพดานโค้งมักจะประกอบด้วยสันแบบแปดแฉก ซึ่งจะรวมเข้าหากันบริเวณหมุดกลางเพดานทรงกลม ซึ่งยังสามารถพบเห็นเพดานโค้งแบบนี้ได้ตามโบราณสถานกว่าสี่สิบแห่ง[1]ในเมืองอ็องฌู โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิหารอ็องเฌ หมุดเพดานอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าเพดานโค้งครึ่งวงกลมถึง 3.50 เมตร และในคริสต์ศตวรรษที่ 12 จะเริ่มพบว่าสันเพดานจะมีจำนวนแฉกที่มากขึ้นและละเอียดมากขึ้น โดยมักจะตั้งอยู่บนเสาสูงทรงกระบอกตรง เหมือนกับที่พบในอารามนักบุญแซร์ฌแห่งอ็องเฌ (abbaye Saint-Serge d'Angers)

ซึ่งสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้จะพบในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นการผสมผสานองค์ประกอบแบบกอทิก (โดยเฉพาะบริเวณเพดานโค้งสันแบบกอทิก) กับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ของภาคตะวันตกของฝรั่งเศส (วิหารที่มีโดมเป็นองค์ประกอบเหมือนกับที่มหาวิหารอ็องกูแลม และมหาวิหารเปรีเกอ) ซึ่งยังรวมถึงลักษณะของบริเวณกลางโบสถ์ซึ่งประกอบด้วยทางเดินกลางเพียงแห่งเดียว (ไม่มีทางเดินข้าง) หรือมิฉะนั้นจะมีถึง 3 ทาง นอกจากนั้นยังพบว่าบริเวณสันเพดาน ที่มีลักษณะเกือบโค้งเป็นครึ่งวงกลมซึ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ครีบยันลอยเป็นตัวรับน้ำหนัก