ประวัติการค้นพบ ของ กอริลลา

ก่อนปี ค.ศ. 1847 ชาวตะวันตกไม่รู้จักกอริลลาเลย เพราะคิดว่าเป็นเพียงสัตว์ในนิทานที่นักเดินเรือแห่งคาร์เทจ ชื่อ ฮานโน เคยบันทึกไว้เมื่อ 2,500 ปีก่อนว่า ได้พบเกาะที่มีคนป่าซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง แต่มีขนเต็มตามตัว และล่ามที่เดินทางไปด้วยเรียก "กอริลเล" (Gorillaé; กรีก: Γόριλλαι[3]) จึงได้จับมา 3 ตัว[4][5]

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1625 นักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อ แอนดริว บาเทลล์ ที่ไปสำรวจป่าในแองโกลา ได้รายงานการเห็นอสูรกายขนาดใหญ่ที่มีขนเต็มทั่วตัว ยกเว้นที่ใบหน้า กับมือ และสัตว์เหล่านี้ชอบนอนบนต้นไม้ โดยกินผลไม้เป็นอาหารหลัก

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1847 สาธุคุณ โทมัส ซาเวจ ซึ่งเป็นมิชชันนารีประจำที่ไลบีเรีย ในแอฟริกาตะวันตก ขณะเดินทางถึงกาบอง ได้ล้มป่วย จึงต้องเข้าพักที่บ้านสาธุคุณ เจ.ดับเบิลยู. วิลสัน เพื่อรักษาตัว และได้ส่งรายงานไปลงในนิตยสาร Boston Journal of Natural History ว่า เพื่อนคนหนึ่งได้นำกะโหลกของสัตว์คล้ายลิงมาให้ดู และบอกว่ามันเป็นสัตว์ดุร้าย แต่เมื่อซาเวจเพ่งดูกะโหลกอย่างพินิจพิเคราะห์ เขาลงความเห็นว่ามันมิใช่เอป แต่เป็นไพรเมตขนาดใหญ่ และแข็งแรงยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป

เนื่องด้วยสาธุคุณซาเวจเคยเรียนแพทย์ที่โรงเรียนทางการแพทย์เยล เมื่อสำเร็จเป็นแพทย์ในปี ค.ศ. 1833 ได้ตั้งใจจะอุทิศตัวเป็นมิชชันนารีในแอฟริกาตะวันตก เพราะผู้คนที่นั่นมีความต้องการแพทย์มาก ซาเวจเองเป็นนักสะสมกระดูกของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ครั้นเมื่อได้เห็นกะโหลกที่วิลสันนำมาให้ จึงส่งรายงานการพบสัตว์ชนิดใหม่ไปให้เพื่อนชื่อ เจฟฟรีย์ ไวแมน ที่สหรัฐอเมริกา กับริชาร์ด โอเวน แห่งราชบัณฑิตศัลยแพทย์ ที่ลอนดอนรู้ว่า ชาวพื้นเมืองได้พบสัตว์ชนิดใหม่ที่ชอบอาศัยอยู่ตามภูเขา นอนบนคบไม้ และไม่ชอบปรากฏตัวให้เห็นบ่อย อีกทั้งมีนิสัยดุร้าย กะโหลกที่ได้มานี้ เป็นฝีมือของนายพรานที่ฆ่ามัน

แต่การจะบอกชนิดของสัตว์ ซาเวจต้องดูกะโหลกของสัตว์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เพื่อความสมบูรณ์ในการจะเขียนรายงานวิจัยที่จะส่งไปลงตีพิมพ์ในวารสาร จึงติดต่อกับหัวหน้าชาวพื้นเมืองให้จัดหาสิ่งที่ต้องการมาให้ ในที่สุดก็ได้กะโหลกตัวผู้ 2 กะโหลก และกะโหลกตัวเมีย 2 กะโหลก รวมถึงกระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง และกระดูกแขน

แตกต่างระหว่างเพศของกะโหลกศีรษะ (ตัวผู้-ซ้าย, ตัวเมีย-ขวา)

การศึกษาเปรียบเทียบกระดูกอย่างละเอียดทำให้ไวแมน และซาเวจซึ่งมีประสบการณ์วิจัยชิมแปนซีมาก่อนรู้ว่า สัตว์ชนิดใหม่ชื่อ กอริลลา นี้มิใช่ชิมแปนซีขนาดใหญ่ รายงานการพบกอริลลาได้ปรากฏในวารสาร Boston Journal of Natural History ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 โดย ไวแมนได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gorilla troglodytes ในรายงานฉบับนั้น ซาเวจได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัย และที่อยู่อาศัยของกอริลลาด้วย ส่วนไวแมนได้วิเคราะห์ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกอริลลากับเอปชนิดอื่น ๆ

ในเบื้องต้น การค้นพบกอริลลาของไวแมนและซาเวจเป็นเรื่องน่าสนใจเฉพาะในวงการชีววิทยาเท่านั้น แต่อีก 10 ปีต่อมา ซากศพแห้งของตัวกอริลลาเริ่มปรากฏในยุโรป และสังคมเริ่มต้องการจะรู้เกี่ยวกับชีวิตของกอริลลานี้มากขึ้น ยิ่งเมื่อชาร์ลส์ ดาร์วิน ตีพิมพ์หนังสือชื่อ On the Origin of Species ในปี ค.ศ. 1859 คนทั่วไปก็เริ่มกระหายจะเห็นกอริลลาตัวเป็น ๆ มากขึ้น

แต่ก็ประสบปัญหาอีก เพราะกอริลลาไม่สามารถดำรงชีพในสวนสัตว์ได้ และมักล้มตายด้วยโรคหัวใจ สวนสัตว์แห่งลอนดอนจึงออกประกาศไม่ซื้อกอริลลาเป็น ๆ อีกเลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1932[6]