ประวัติศาสตร์ ของ กันตรวดี

กลุ่มรัฐกะเรนนีในอดีตเป็นดินแดนอิสระที่ปกครองด้วยเจ้าฟ้า และถูกควบคุมโดยเจ้าฟ้าไทใหญ่ ในราวพุทธศตวรรษที่ 24 มีรัฐที่เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ 5 รัฐ ต่อมา ใน พ.ศ. 2407 เจ้าฟ้ากะเรนนีได้ร้องขอให้อังกฤษเข้ามาอารักขา แต่อังกฤษไม่ได้แสดงความสนใจ หลังจากเจ้าฟ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2412 โอรสทั้งสององค์หวั่นเกรงการรุกรานของพม่าจึงร้องขอการคุ้มครองจากอังกฤษ แต่อังกฤษปฏิเสธ เมื่อพม่าต้องการรวมเขตของกะเรนนีเข้ามาในการปกครอง อังกฤษได้รับรองความเป็นเอกราชของรัฐทั้งสี่ ซึ่งต่อมา รัฐกะเรนนี 4 รัฐคือบ่อลาแก นามเมกอน นองปาเล และเจโบจี ถือเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษตั้งแต่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2418 ส่วนกันตรวดีถือว่าเป็นเอกราชแต่ไม่อยู่ภายใต้การอารักขาของอังกฤษ กันตรวดีเริ่มส่งบรรณาการให้อังกฤษในสมัยเจ้าฟ้าลอปอเมื่อ พ.ศ. 2431 ต่อมาเจ้าฟ้าลาวีที่ครองเมืองต่อมาได้ยอมจ่ายบรรณาการ 5,000 รูปีให้แก่อังกฤษเพื่อประกันตำแหน่งเจ้าฟ้าของตน[1]

ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐเชียงตุงถูกรุกรานโดยกองทัพพายัพของไทย[3] ต่อมา สนธิสัญญาระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นกับจอมพล ป. พิบูลสงครามของไทยในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้น ได้ยกดินแดนรัฐกันตรวดีซึ่งอยู่ระหว่างชายแดนไทยกับแม่น้ำสาละวินให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐไทยเดิม ซึ่งมีดินแดนเชียงตุงและเมืองพาน การผนวกเกิดขึ้นเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486[4] ไทยได้คืนดินแดนที่ผนวกนี้ใน พ.ศ. 2488 และยกเลิกการอ้างสิทธิเหนือดินแดนนี้ในพ.ศ. 2489 เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และถอนตัวจากการต้องเป็นผู้แพ้สงครามเพราะเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[5]