การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ของ กานามัยซิน

ขอบเขตการออกฤทธิ์

กานามัยซินมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาระยะสั้นสำหรับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบทีเรีย E. coli, สกุลโปรเตียส (ทั้งกรณี indole-positive และ indole-negative), Enterobacter aerogenes, Klebsiella pneumoniae, Serratia marcescens, และสกุลอซีเนโตแบคเตอร์ ในกรณีที่เป็นการติดเชื้ออย่างรุนแรงแต่ไม่ทราบเชื้อสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยกานามัยซินร่วมกับเพนิซิลลินหรือเซฟาโลสปอรินในรูปแบบฉีด อย่างใดอย่างหนึ่ง จนกว่าจะทราบผลการเพาะเลี้ยงเชื้อหรือผลทดสอบความไวของเชื้อสาเหตุต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ ในกรณีโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้น กานามัยซินไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาเช่นเดียวกันกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ[6]

การใช้ในกลุ่มประชากรพิเศษ

กานามัยซินเป็นยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ (ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ระดับ D)[6] ส่วนการใช้ยานี้ในหญิงที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรนั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องจากกานามัยซินถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ทางผู้ผลิตได้แนะนำให้หยุดการให้นมระหว่างี่ได้รับกานามัยซิน หรือหลีกเลี่ยงไปใช้ยาอื่น แต่สมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ได้ลงความเห็นโดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาทดลองต่างๆว่า กานามัยซินนั้นสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงให้นมบุตร[7]

ส่วนในเด็กและทารกนั้น สามารถใช้กานามัยซินในการรักษาโรคติดเชื้อแบคีเรียตามข้อบ่งใช้ที่กำหนดได้ แต่อาจต้องมีการปรับลดขนาดยากานามัยซินลง เนื่องจากไตยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษและอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ หากใช้กานามัยซินในปริมาณปกติทั่วไป[6]