การศึกษา ของ กายภาพบำบัด

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา นักกายภาพบำบัด จะต้องจบการศึกษาจากสถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตร ก่อนที่จะเข้ารับการสอบผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด (National licensing examination) กฎหมายแห่งชาติยังระบุด้วยว่า ให้นักกายภาพบำบัด ผ่าน การทดสอบข้อสอบกลาง (National Physical Examination) [19]ภายหลังจากการสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตร ก่อนที่จะเข้าทำการปฏิบัติกับผู้ป่วย กล่าวคือ นักกายภาพบำบัดที่จบในสหรัฐอเมริกา จะผ่านการสอบ เพื่อที่จะประกอบวิชาชีพ 2 ครั้ง นอกจากนี่ นักกายภาพบำบัด จะต้องยื่นใบสมัครต่อรัฐ ในแต่ละรัฐที่ทำการปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วย ซึ่งในแต่ระรัฐจะมีระเบียบข้อบังคับต่อนักกายภาพบำบัด ที่แตกต่างกันออกไปจากข้อมูลของ สมาคมกายภาพบำบัดสหรัฐอเมริกา (APTA) มีสถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตร 210 แห่ง ในปี 2008 ในจำนวนนี้ 23 แห่งได้เปิดสอนระดับปริญญาโท และ 187 แห่งเปิดสอนหลักสูตร ดอกเตอร์ด้านกายภาพบำบัด (Doctor of Physical therapy หรือ DPT) และ หลักสูตรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนเป็น DPT[20]

ออสเตรเลีย

ในออสเตรเลียเรียกนักกายภาพบำบัดว่า Physiotherapist มีหลักสูตรการศึกษาที่เปิดสอนต่างกัน ระดับปริญญาบัณฑิต ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ประกอบด้วยการศึกษาวิชาทฤษฏีพื้นฐานที่สำคัญเช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีววิทยา ฟิสิกส์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และ goniometry เป็นต้น หลังจากการศึกษาทฤษฏีต่างๆแล้วนักศึกษากายภาพบำบัด จะต้องศึกษา และฝึกปฏิบัติทางคลินิค ซึ่งจะเจาะจงไปในผู้ป่วยกลุ่ม ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ป่วยทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยกลุ่มสูงวัย ผู้ป่วยระบบหลอดเลือดหัวใจและทรวงอก และผู้ป่วยสตรี โดยปรกติแล้วการฝึกปฏิบัตินั้น จะค่อยๆดำเนินไปตลอดภาคการศึกษา โดยนักศึกษาจะต้องเพิ่มพูนความชำนาญ และการระวังรักษามากขึ้นไปในตัวด้วย ในปีการศึกษาสุดท้ายจะมีการสอบปฏิบัติทางคลินิค เพื่อประเมินผล รวมไปถึงการทำงานวิจัยด้วย โดยปรกติ หลักสูตรจะเปิดสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาระดับปริญญาตรีมาก่อน เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้วุฒิ กายภาพบำบัดบัณฑิต (Bachelor of Physiotherapy)

หลังระดับปริญญาบัณฑิตแล้ว จะสามารถเข้าศึกษาต่อในบางสถาบัน ปรกติแล้วจะใช้เวลา 3 ปีสำหรับศึกษาตามหลักสูตรในสาขาเฉพาะที่เกี่ยวข้อง เช่นสรีรวิทยาการออกกำลังกาย สำหรับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้เปิดหลักสูตรใหม่หลังปริญญาบัณฑิต จะเปิดให้นักศึกษาสามารถสมัครเข้าศึกษาเป็นเวลา 3 ปี ในระดับปริญญาบัณฑิต ในหลักสูตร ชีวการแพทย์ หรือ วิทยาศาสตร์ (เริ่มต้นในปี 2008) แล้วตามด้วย 3 ปีในหลักสูตรกายภาพบำบัดเป็นหลักสูตรหลังปริญญา หรือ DPT และเช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยบอนด์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ก็ได้เปิดหลักสูตร DPT สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทางกายภาพบำบัด

ไทย

ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายของวิชาชีพกายภาพบำบัดไว้ว่า "เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูการเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด" [21]

จุดเริ่มต้นของเวชศาสตร์ฟิ้นฟูในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพลตรีนายแพทย์ขุนประทุมโรคประหาร ซึ่งปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้นำวิธีธาราบำบัดมาใช้รักษาผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ต่อมา ก็ได้มีการส่งแพทย์ชาวไทยเพื่อไปเรียนด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลายคน แต่ด้วยปัญหาด้านการจัดหาทุนจึงได้ระงับโครงการไปชั่วคราว ต่อมาเริ่มงานทางด้านกายภาพบำบัดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช และได้ก่อตั้งเป็นภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2507 และหลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็มีการก่อตั้งโรงเรียนกายภาพบำบัด สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น แห่งแรกของประเทศขึ้น และพัฒนาจนเป็นคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ และปัจจุบัน คือ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล [22]

หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ประกอบไปด้วยการศึกษาวิชาพื้นฐานเช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เคมีอินทรีย์ วิชาเฉพาะทางการแพทย์พื้นฐานเช่น มหกายวิภาคศาสตร์ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา จิตวิทยา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ จริยธรรมทางการแพทย์ และวิชาเฉพาะทางกายภาพบำบัดเช่น วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว การวินิจฉัยและรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดหลักสูตรการศึกษานักศึกษาจะต้องฝึกเพิ่มพูนความชำนาญในแต่ละขอบเขตเช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ และจะต้องทำการฝึกปฏิบัติการทางคลินิคเป็นระยะเวลาสั้นๆ สลับกับการเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบหลักสูตร [23]

ภายหลังจากจบหลักสูตรแล้ว นักศึกษาจะต้องผ่านการสอบประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเข้าทำการให้การรักษาหรือฟื้นฟูต่อผู้ป่วยด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด และสามารถใช้คำนำหน้าชื่อ กภ. ในการปฏิบัติงานได้[24]