ข้อโต้แย้ง ของ การขริบหนังหุ้มปลาย

ในบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขริบ มีข้อโต้แย้งเช่น

  1. ในเรื่องการลดการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเอดส์และมะเร็งนั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจน และการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยให้ผลที่แน่นอนกว่ามากโดยไม่ต้องขริบ [1][2] นอกจากนี้อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าขริบแล้วไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัย ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคขึ้นอีก
  2. ในเรื่องการทำความสะอาดอวัยวะเพศ ผู้ปกครองสามารถสอนเด็กให้ทำได้เองตั้งแต่เล็กโดยไม่ต้องขริบ [2]
  3. ที่ปลายอวัยวะเพศมีปมประสาทจำนวนมากที่ให้ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะถูกทำลายเมื่อถูกขริบ [3] และตามธรรมชาติหนังหุ้มปลายมีหน้าที่ปกป้องหัวลึงค์ซึ่งไวต่อสัมผัส เมื่อถูกขริบไปทำให้หัวลึงค์ต้องถูกเสียดสีโดยตรง เป็นการทำลายความไวต่อสัมผัสอีกต่อหนึ่ง [2] ผู้โต้แย้งการขริบเห็นว่าการขริบตามหลักศาสนาทั้งหญิงและชายนั้นเป็นการทำเพื่อลดความสุขทางเพศ โดยเฉพาะการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ทำให้คนหมกมุ่นทางเพศน้อยลง [3]
  4. การขริบถือเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการขริบตามประเพณีที่มักกระทำโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์และไม่มีกรรมวิธีที่ถูกต้อง เช่น ไม่ใช้ยาชา อาจทำให้เด็กเกิดแผลในใจและนำไปสู่ความเกลียดกลัวการมีเพศสัมพันธ์ ในทารกแรกเกิดนั้นก็สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ และแม้เด็กจะจำไม่ได้แต่ความรู้สึกนั้นจะฝังลงในจิตใต้สำนึกและอาจกลายเป็นปัญหาในตอนโต [3]
  5. การขริบเด็กและทารกที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้เองนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ผู้ปกครองและแพทย์ควรทำเพียงให้ความรู้ แล้วปล่อยให้เด็กตัดสินใจเองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วว่าจะขริบหรือไม่ ในประเทศที่ถือสิทธิส่วนบุคคลอย่างมากเช่นแถบสแกนดิเนเวีย การขริบเด็กโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์อันควรถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย [1] ที่ประเทศเยอรมนี การขริบเด็กด้วยเหตุผลทางศาสนาอย่างเดียวโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์รองรับถือเป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ เพราะผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์เลือกศาสนาให้เด็ก เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กอาจเลือกนับถือศาสนาอื่นที่ไม่มีข้อบังคับเรื่องขริบ (หรือไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้) แต่การขริบสร้าง "ความเสียหายอย่างถาวร" ให้กับให้กับอวัยวะเพศไปแล้ว โดยที่เด็กไม่สามารถโต้แย้งขัดขืน หรือรักษาอวัยวะเพศให้กลับไปเหมือนเดิมได้ [4][5]

ใกล้เคียง