กลียุคแห่งการปฏิวัติ ของ การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ปี 1966 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตัดสินใจแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากที่เหมาเข้าควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในพรรคได้อีกครั้ง โดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือ จอมพล หลินเปียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ เจียงชิง (ภรรยาของประธานเหมา คนที่สี่ ซึ่งเป็นลำดับเลขความหมายไม่ดีในวัฒนธรรมจีน) การปฏิวัติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “โค่นล้มพวกลัทธิทุนนิยม และวิพากษ์ศิลปวัฒนธรรมที่แบ่งแยกชนชั้น” โดยการปฏิวัติการศึกษา ปฏิวัติศิลปวัฒนธรรม และปฏิวัติทุกอย่างที่ขัดกับแนวทาง ลัทธิมากซ์

ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนมาตั้งแต่โบราณต้องถูกทำลาย เช่น โครงกระดูกมนุษย์โบราณ หลุมฝังศพ ป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ หนังสือที่เขียนขึ้นไม่ใช่ลัทธิของประธานเหมา เครื่องดนตรีโบราณ ศาสนสถาน พระราชวัง กำแพงเมืองจีน รูปปั้นบุคคลที่ประกอบคุณงามความดี งานศิลปะอันประมาณค่ามิได้ต่าง ๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎการปฏิวัติวัฒนธรรม

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 เหมาเจ๋อตงกับหลิวเปียวได้ปรากฏตัวที่ จัตุรัสเทียนอันเหมิน พบกับพวกหงเว่ยปิงหรือเรดการ์ด ที่ทยอยมาจากทั่วประเทศจำนวนรวมสิบกว่าล้านคน หลังจากนั้น ทั่วประเทศจีนก็เข้าสู่กลียุค เมื่อพวกเรดการ์ดกระจายไปทั่วสารทิศแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย บางส่วนก็บุกเข้าไปในวัดโบสถ์ พิพิธภัณฑ์สถาน ทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ ตอนหลังก็มีการบุกค้นบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ดีเก่า ปัญญาชน ศิลปินหัวอนุรักษนิยม จะถูกจับแห่ประจาน ทรมาน ตอนหลังแม้แต่พระสงฆ์ แม่ชีและนักบวชก็ไม่เว้น พวกที่มีญาติอยู่ต่างประเทศก็โดนข้อหา “มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ” หลายคนทนรับเหตุการณ์ไม่ได้ก็ถูกทรมานให้ฆ่าตัวตาย

ในส่วนของผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น เติ้งเสี่ยวผิง กับหลิวส้าวฉี (ตอนหลังตายในที่คุมขัง) ถูกปลด จอมพล เผิงเต๋อหวาย กับเฮ่อหลง ถูกทรมานจนเสียชีวิตแล้ว ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม ประธานเหมา ประกาศ “ห้ามตำรวจขัดขวางขบวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของนิสิตนักศึกษา” และอ้างถึงพลังบริสุทธิ์ของวัยหนุ่มสาว ในช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า “แดงสยอง” เฉพาะในปักกิ่ง มีคนถูกฆ่าตายถึง 1,700 คน และทั่วประเทศมีคนถูกบีบบังคับทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรงให้ฆ่าตัวตายเอง เพื่อพ้นจากความเจ็บปวดถึง 2 แสนคน จากนั้นวันที่ 5 กันยายน ทางพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับนักศึกษาและอาจารย์สถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวในปักกิ่ง โดย นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล กระทั่งวันที่ 9 ตุลาคม หลินเปียวกล่าวหา เติ้งเสี่ยวผิง กับ หลิวส้าวฉี เป็นตัวแทนของทุนนิยม

ใกล้เคียง