ผลกระทบ ของ การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ

การปฏิวัติเกษตรกรรมส่งผลกระทบอย่างยิ่งในยุโรปและดินแดนอาณานิคมของยุโรปดังนี้

  • ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว พืชบางชนิดส่งเพื่อเป็นสินค้าออก เช่น ต้นฮอพในการหมักเบียร์ ต้นป่านในการทอผ้า ผลผลิตทางธัญพืชของอังกฤษและเวลส์ เพิ่มจาก 14.8 ล้านควอเตอร์ เป็น 16.5 ล้านควอเตอร์ และอังกฤษส่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอขนสัตว์ออกนอกเพิ่มจาก 12.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปีเป็น 35 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปี การส่งผลผลิตทางการเกษตรจากดินแดนโพ้นทะเลมาแย่งตลาดยุโรป ทำให้ยุโรปตั้งกำแพงภาษีและห้ามเรือสินค้าเข้าเทียบท่า เพิ่อกีดกันสินค้าเกษตรจากดินแดนอาณานิคม
  • ประชากรมีสุขภาพดีขึ้นเพราะมีอาหารเพียงพอและมีคุณภาพ ระบบการผลิตทางเกษตรกรรมถูกสุขลักษณะและมีการใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น เกษตรกรมีอาหาร, มีเวลาว่าง และมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรรมเป็นแหล่งอาหาร, วัตถุดิบ และแรงงานให้กับกิจการอุตสาหกรรม
  • การปฏิวัติได้เปลี่ยนโฉมหน้าเทคโนโลยีและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเต็มที่, การปรับปรุงชลประทาน, การระบายน้ำ, การขนส่ง, ระบบสินเชื่อของธนาคาร และสถาบันการเงิน เพิ่อส่งเสริมกิจการทางการเกษตรเป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือบุคคลชั้นผู้นำของดินแดนต่างๆ ล้วนส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของการเกษตร เช่น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่, นายพลเดอลาฟาแยตต์แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันแห่งสหรัฐอเมริกา

ในช่วงปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงระบบของเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กัน มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ดีขึ้น, การเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ดิน และการบุกเบิกการเกษตรในที่ดินโพ้นทะเล ผลที่ตามมาก็คือความชำนาญผลิตสินค้าการเกษตรเฉพาะอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักรในการเกษตรมากขึ้น การแบ่งงานกันทำในกิจกรรมเกษตร การลงทุนด้านเครื่องจักร และเทคนิคการเกษตรพิ่มคุณภาพของดิน จึงสามารถสรุปได้ว่าการปฏิวัติเกษตรกรรมคือการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร โดยเปลี่ยนแปลงด้านระบบและเทคนิคการผลิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเกษตรมีลักษณะเป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าเฉพาะอย่างถูกผลิตเพื่อตลาดภายในและภายนอกประเทศ เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ต้องลงทุนด้านเครื่องจักรและจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เกิดการเกษตรเพื่อการค้าขนาดใหญ่ เช่น ในอังกฤษ, รัฐเยอรมันแถบตะวันออก, บางส่วนของรัสเซีย และแถบลุ่มแม่น้ำโปของอิตาลี ส่วนดินแดนนอกยุโรป ได้แก่ แถบที่ราบใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา, เขตทุ่งหญ้าแพมเฟอร์ในอาเจนตินาและออสเตรเลีย ในเขตการเกษตรขนาดเล็กตามลักษณะการถือครองที่ดิน เช่น ฝรั่งเศส, รัฐเยอรมันแถบตะวันตก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เกษตรกรไม่อาจรับเทคนิคใหม่และเครื่องจักรในการเกษตรเพราะกิจการเล็กเกินไป แต่ใช้วิธีเลือกเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตราคาสูงต่อหน่วยพื้นที่ขนาดเล็กและผลิตแบบใช้แรงงานต่อหน่วยสูงแต่ลงทุนน้อย เช่น ผลิตภัณฑ์นม, ไข่, ผักสด, ดอกไม้ และผลไม้

ใกล้เคียง