การยิงสลุตในประเทศไทย ของ การยิงสลุต

เท่าที่ปรากฏตามหลักฐาน ประเทศไทยมีการยิงสลุตครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีในบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิชเยนทร์ (ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน) ที่เมืองบางกอก มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่าจะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คือสมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป แต่ถึงที่สุดแล้ว ธรรมเนียมการยิงสลุตนี้ ก็ได้เริ่มกลับมารื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คราวที่ต้อนรับ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2398

กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ นั้นได้จัด 1 กองร้อยปืนใหญ่ยิงสลุต ในขั้นตอนถวายพระพร โดยใช้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบ แบบ 80 ขนาด 75 มิลลิเมตร จำนวน 4 กระบอก ซึ่งปรับปรุงดัดแปลงมาจากปืนใหญ่ที่ผลิตจากบริษัทโบฟอร์ด ราชอาณาจักรสวีเดน ที่เข้าประจำการเป็นปืนใหญ่ของกองพล เมื่อปี พ.ศ. 2480 โดยทำการยิงตามจังหวะของเพลงสรรเสริญพระบารมีจำนวน 21 นัดสมัยก่อนการยิงสลุตในประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์อย่างไร เพิ่งจะมีข้อบังคับในการยิงสลุตเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2448 เรียกว่า “ข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ. 2455) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก ซึ่งมีขนาดลำกล้องไม่เกิน 120มิลลิเมตร ห้ามยิงตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท คือ

  • สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด (ต่อมาในรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นการประหยัดดินปืน จึงไม่ทรงให้ยิงสลุตหลวงพิเศษ)
  • สลุตข้าราชการ
  • สลุตนานาชาติ

พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ. 2455) ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2483 ดังนั้นประเพณียิงสลุตจึงได้อวสานลงเพียงแค่นั้น แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ ซึ่งเริ่มยิงสลุตครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 ดังนั้นประเพณีการยิงสลุตจึงสืบทอดจากนั้นมาจนทุกวันนี้ โดยกำหนดข้อบังคับไว้โดยสรุปดังนี้ กองทหารซึ่งมีหน้าที่ยิงสลุต เฉพาะเมื่อรับงานหนึ่งๆ การยิงสลุต ให้ใช้ปืนไม่ต่ำกว่า 2 กระบอก โดยปกติห้ามมิให้มีการยิงสลุตในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์อัสดงคตไปจนถึงเวลาธงขึ้น คือ 8 นาฬิกา เว้นแต่เป็นการพิเศษที่มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมเฉพาะคราว

คำว่า “ สลุตหลวง ” นั้น หมายความว่า การยิงสลุตมีจำนวน 21 นัด

คำว่า “ สลุตหลวงพิเศษ ” นั้น หมายความว่า การยิงสลุตมีจำนวน 101 นัด และให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม

กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ถือว่าเป็นหน่วยยิงสลุตในส่วนของทหารบก โดยจัด 1 กองร้อยปืนใหญ่ ซึ่งปรับปรุงดัดแปลงมาจากปืนใหญ่ที่ผลิตจากบริษัท โบฟอร์ด ประเทศสวีเดน ที่เข้าประจำการเป็นปืนใหญ่ของกองพล เมื่อปี พ.ศ. 2480 ซึ่งปกติจะทำการยิงสลุตในพระราชพิธีหรือ รัฐพิธีต่าง ๆ ตามปกติในวงรอบ 1 ปี จะทำการยิง 3 ครั้ง ดังนี้คือ

  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม

ในวันที่ 3 มิถุนายน 28 กรกฎาคม และ 12 สิงหาคม ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ทำการยิงสลุต เวลา 12 นาฬิกา (เที่ยงตรง) โดยยิงสลุตตามจังหวะเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีจำนวน 21 นัด

นอกจากวันสำคัญทั้งสามแล้ว ยังมีการยิงสลุตหลวงอีกตามโอกาสพระราชพิธีเฉพาะ ได้แก่

  • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อถวายพระเกียรติยศของพระบรมศพ งานพระราชพิธีที่ผ่านมาได้แก่
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และ 7
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8 และ 9
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 8 และ 9
    • พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
  • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ที่ดำรงพระยศทางทหารหรือพระบรมวงศ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงเคารพยกย่องเป็นพิเศษ เช่น
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพันเอกพิเศษ จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 8 และ 9
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
    • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • พระราชพิธีอันเป็นการเฉลิมฉลองมงคลในวาระพิเศษแห่งราชสมบัติหรือพระชนมายุ เช่น
    • พระราชพิธีรัชดาภิเษก
    • พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
    • พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
    • พระราชพิธีฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
  • พิธีต้อนรับประมุขของต่างประเทศ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ และ พระอาคันตุกะ ในโอกาสที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ