พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ ของ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ_เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา_กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนี้

  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 9 – 10 มกราคม 2551
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 16 – 17 มกราคม 2551
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2551
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 10 – 11 เมษายน 2551

พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ

ในการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ระหว่างวันที่ 3 มกราคม-12 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลประจำวันพุธ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระราชโอรส และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และครอบครัว สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชินีกุล ราชสกุลกิติยากร คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ร่วมในการบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศล ถวายพระศพ ระหว่างวันที่ 23 มกราคม-9 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลพิธีกงเต็ก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้คณะบุคคล สมาคม หน่วยงาน องค์กร และบริษัทห้างร้านต่างๆ

ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลกงเต็กถวายพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังดังนี้

  • วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 คณะสงฆ์จีนนิกาย
  • วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2551 มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
  • วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551 สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยจีน และประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ (เยาวราช)
  • วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2551 สมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน
  • วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2551 คณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย
  • วันพฤหัสบดี ที่ 17 เมษายน 2551 - วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551 สมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

การร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระศพฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ข้าราชการหน่วยงานภาครัฐและภาค เอกชนร่วมเป็นเจ้าภาพในพระพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ถึงสิ้นเดือน ตุลาคม 2551 รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้าถวายสักการะพระศพฯ ทุกวัน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

หีบพระศพ

นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ในการจัดสร้างหีบพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยสร้างหีบพระศพทรงหลุยส์ผสมบุษบกจากแผ่นไม้สักทองอายุ 100 ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ไม้ดังกล่าวนำมาจาก จ.เชียงใหม่ และใช้หมึกจีนพ่นสีโอ๊กม่วง ขนาดความกว้าง 26 นิ้ว ความยาว 2 .29 เมตร น้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม ทั้งนี้ใช้เวลาเตรียมการประมาณ 30 วัน อย่างไรก็ตาม สีที่พ่นเป็นสีโอ๊กม่วงนั้น นอกจากเป็นสีที่มีเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ ให้ทำหีบพระศพให้คล้ายคลึงกับหีบพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ซึ่งใช้หมึกจีนสีโอ๊กม่วงเช่นกัน

เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หีบพระศพดังกล่าวประกบด้วยปุ่มมะค่าทองรอบใบลวดลาย ของหีบพระศพเป็นลายกุหลาบ แสดงถึงความรัก ส่วนด้านขอบล่างเป็นลายหลุยส์ ส่วนฝาด้านบนเป็นบุษบก 3 ชั้น ภายในหีบพระศพ ใช้ผ้าไหม สีครีมทองประดับตกแต่งและดิ้นชายรอบ ซึ่งทางสุริยาเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด ใช้ช่างแกะสลัก 3 คน ช่างประกอบหีบศพอีก 5 คน รวม 8 คน ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวังตลอดการผลิต 30 วัน

โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาตรวจงานด้วยพระองค์เอง พร้อมรับสั่งว่า สวยดี

การประโคมย่ำยาม

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังแต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

  • ยาม 1 เวลา 06.00 น.
  • ยาม 2 เวลา 09.00 น.
  • ยาม 3 เวลา 12.00 น.
  • ยาม 4 เวลา 15.00 น.
  • ยาม 5 เวลา 18.00 น.
  • ยาม 6 เวลา 21.00 น.
  • ยาม 7 เวลา 24.00 น.

ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ

  • วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)
  • วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

  • วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”

เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น

แต่โบราณดั้งเดิม ไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปี่หนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น

พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล

ได้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 184 รูป เพือถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 50 วัน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 และในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ในวันที่ 11 เมษายน 2551 ที่ลานพระราชวังดุสิต โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และทุกจังหวัดจัดพิธีทำบุญตักบาตรพร้อมกันกับในส่วนกลาง

ใกล้เคียง

การสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก การสิ้นพระชนม์ของไดอานา, เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การสิ้นพระชนม์และพิธีฝังพระศพเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ การสิ้นพระชนม์ของพระแม่มารี การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า การสิ้นพระชนม์ของพระแม่มารี (การาวัจโจ)