พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ ของ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดังนี้

  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 2 - 3 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 14 - 15 กันยายน 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2554[9]

พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ ในการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลประจำวันพุธ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์ สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชินีกุล คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมในการบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศล ถวายพระศพประจำสัปดาห์ในทุกวันพุธ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง หลังพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน จนถึงพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 100 วัน โดยมีกำหนดการดังนี้

  • วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2554 และ วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
  • วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554 สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และสมาชิกราชินีกุล
  • วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2554 คณะองคมนตรี และสกุลที่เกี่ยวเนื่องกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (อภัยวงศ์,จารุดุล,กุวานนท์)
  • วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554 คณะรัฐมนตรี และข้าราชการทหาร - ตำรวจ (4 เหล่าทัพ)
  • วันพุธที่ 7 กันยายน 2554 สมาชิกรัฐสภา และทายาทข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • วันพุธที่ 14 กันยายน 2554 และ วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) พระราชทานพระศพ
  • วันพุธที่ 21 กันยายน 2554 หน่วยงานตุลาการ และหน่วยงานองค์กรอิสระ
  • วันพุธที่ 28 กันยายน 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริษัทในเครือ 6 ราย สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ องค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์
  • วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 กระทรวง กรม กองต่างๆ องค์กรศาสนา และพราหมณ์
  • วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2554 สถาบันการศึกษาภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการเงิน
  • วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554 องค์กรสาธาณกุศล องค์กร-บริษัทเอกชน และองค์การมหาชน
  • วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2554 สื่อมวลชนทุกแขนง คณะลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด และอาสาสมัครรักษาดินแดน
  • วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และองค์กรในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2554 และ วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2554 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) พระราชทานพระศพ

หลังจากพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร 100 วัน พระราชทานพระศพแล้ว จะงดการประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ และงดการถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพต่อไป

การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลกงเต็ก

ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 16 กันยายน 2554 เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ ในการคณะสงฆ์จีนนิกายบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก) ถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป ทรงกราบ ประทับพระเก้าอี้ พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ อัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาประทับ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม ประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกายอ่านประกาศการบำเพ็ญกุศล (กงเต็ก) พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก เสด็จลงมณฑลพิธี เจ้าพนักงานเชิญเทวทูตม้าเข้าถวาย ทรงอธิษฐาน แล้วมอบเจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหาโพธิสัตว์ จากนั้นมีพิธีสรงน้ำดวงพระวิญญาณ พระสงฆ์จีน 86 รูปขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก เสด็จตามพระสงฆ์จีนไปถวายเครื่องเสวยคาว-หวาน ผลไม้ ที่หน้าพระโกศพระศพ พระสงฆ์จีน 21 รูปเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สวดพระพุทธมนต์

เวลา 16.00 น. ประกอบพิธีลอยกระทงและปล่อยนกปล่อยปลา พระสงฆ์จีน 15 รูปเดินนำเสด็จไปยังท่าราชวรดิฐ พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ทรงคม แล้วทรงยืน พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ เจ้าพนักงานเชิญเทวทูตม้าเข้าถวาย ทรงอธิษฐาน แล้วมอบเจ้าพนักงานนำไปเผา พระสงฆ์จีนสวดพระพุทธมนต์ปล่อยชีวิตสัตว์ พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึกและข้าราชบริพารลอยกระทง ปล่อยนก ปล่อยปลา

ต่อมาเวลา 18.00 น. ประกอบพิธีโยคะตันตระ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และทรงจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ดวงพระวิญญาณ เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่เวไนยสัตว์ พระสงฆ์จีนสวดพระธารณีมนต์เจริญธรรมอธิษฐาน

กระทั่งเวลา 20.50 น. พลโทหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร 10 ไตร พระสงฆ์จีนสดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงกราบพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นเสด็จลงบันไดมุขด้านทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังลานหน้าประตูศรีสุนทร ทรงวางกระดาษเงิน-กระดาษทองในพระตำหนักหลุยส์ เครสเซนต์ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษจำลอง ทรงจุดไฟเผาเครื่องกระดาษ

โดยเครื่องกระดาษที่ใช้พิธี ประกอบด้วย พระตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ ที่เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ ในบรรยากาศริมทะเล ซึ่งเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประทับเมื่อครั้งทรงอยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งภายในมีการจัดสวนและรถยนต์พระที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีหีบฉลองพระองค์ ภูเขาเงิน ภูเขาทอง ภูเขาเสริมบารมี เครื่องเงินเครื่องทอง หีบบรรจุกระดาษเงินกระดาษทองจำนวน 6-7 หีบ ขณะที่ส่วนประกอบของพิธีได้มีการจำลองรูปพระมหาโพธิสัตว์ความสูง 3 เมตร ที่ทำหน้าที่ดูแลดวงวิญญาณต่างๆ ที่มารับส่วนกุศล ภูเขาเงินภูเขาทองสำหรับอุทิศให้กับวิญญาณไร้ญาติต่างๆ หุ่นกระดาษข้าราชบริพารจำนวน 1 คู่ ห้องสรงสำหรับสรงน้ำดวงพระวิญญาณ ถ่งพวง หรือ ไม้แขวนฉลองพระองค์ที่ใช้สำหรับอัญเชิญดวงพระวิญญาณ เทวทูตกระดาษขี่ม้าขี่นกจำนวน 3-4 ชุด เสื้อกระดาษสำหรับเผาให้วิญญาณไร้ญาติจำนวน 360 ชุด นอกจากนี้รวมถึงรูปสุนัข และไก่แจ้ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่โปรด

สิ่งของอุปโภคและบริโภคในพิธีทิ้งกระจาดหรือพิธีโยคะตันตระ ถวายเป็นพระกุศลในพิธีกงเต็กครั้งนี้ จะมอบให้กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งทรงเป็นนายทหารพิเศษ นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป เพื่อน้อมถวายเป็นพระกุศล

การประโคมย่ำยาม

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังแต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

  • ยาม 1 เวลา 06.00 น.
  • ยาม 2 เวลา 09.00 น.
  • ยาม 3 เวลา 12.00 น.
  • ยาม 4 เวลา 15.00 น.
  • ยาม 5 เวลา 18.00 น.
  • ยาม 6 เวลา 21.00 น.
  • ยาม 7 เวลา 24.00 น.

ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ

  • วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)
  • วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

  • วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น
  • วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”

เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น

แต่โบราณดั้งเดิม ไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปี่หนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น

พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล

ได้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 186 รูป เพือถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 50 วัน ในวันที่ 14 กันยายน 2554 และในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 100 วัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โอกาสนี้คณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรต่างๆ และประชาชน ร่วมพิธีด้วย และทุกจังหวัดได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรพร้อมกันกับในส่วนกลาง

ใกล้เคียง

การสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี การสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก การสิ้นพระชนม์ของไดอานา, เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การสิ้นพระชนม์และพิธีฝังพระศพเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ การสิ้นพระชนม์ของพระแม่มารี การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า การสิ้นพระชนม์ของพระแม่มารี (การาวัจโจ)

แหล่งที่มา

WikiPedia: การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ_เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา_สิริโสภาพัณณวดี http://www.ch7.com/news/news_royal_detail.aspx?c=1... http://www.daylife.com/search?q=+Princess+Bejarata... http://www.huffingtonpost.com/2012/04/09/thailand-... http://www.ibtimes.com/articles/325799/20120410/th... http://1click.indiatimes.com/photo/05UebaBd0wf4x?q... http://photoblog.msnbc.msn.com/_news/2012/04/09/11... http://www.princessbejaratana.com/ http://www.princessbejaratana.com/th/news_detail.p... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://news.sanook.com/social/social_53291.php