ประเทศไทย ของ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ได้เพิ่มหลักการสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่น เรียกว่า "การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล" ซึ่งถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย

ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การอภิปรายไม่ไว้วางใจจำแนกได้เป็น:

  1. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
  2. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา (โดยทั่วไปคือ 100 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ โดยเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหลีกหนีการถูกอภิปราย

การออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรอง มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (โดยทั่วไปคือเท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง) หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามมาตรา 170

นายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167

มหกรรม 7 วัน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ถึง 26 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โดย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งคณะ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างรุนแรง ข้าวปลาอาหารราคาแพง การทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาล รวมไปถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอย่างกว้างขวาง เพราะรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างได้แม้จะผ่านมาแล้วถึงหนึ่งปี

การอภิปรายครั้งนี้ดำเนินอย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 8 วัน 7 คืน ด้วยกัน จนถูกเรียกว่า "มหกรรม 7 วัน" ผู้นำการอภิปรายคือ นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นการอภิปรายครั้งแรกที่ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียง แม้ผลการอภิปราย รัฐบาลจะได้รับเสียงไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมติ 86 ต่อ 55 จากสมาชิกทั้งหมด 178 คน แต่หลังจากนั้นเพียงสองวัน คือ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องลาออกเพื่อลดแรงกดดันและปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี

ใกล้เคียง

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 การอภิปรายไม่ไว้วางใจอิมราน ข่าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ