การอยู่ไฟ
การอยู่ไฟ

การอยู่ไฟ

การอยู่ไฟ คือประเพณีไทยหลังคลอดลูกของผู้หญิง ที่เชื่อว่าช่วยให้บาดแผลของแม่สมานตัวได้เร็ว และช่วยขับ "น้ำคาวปลา" ออกให้หมดจนมดลูกแห้งเข้าอู่เร็วขึ้น ด้วยวิธีให้ผู้หญิงหลังคลอดนอนบนกระดาน เอากองถ่านร้อน ๆ มาวางไว้ข้างเตียง แล้วปิดห้องให้มิดชิดทำให้ห้องนั้นร้อนอย่างมาก จนอาจเกิดแผลพุพอง ถึงกับต้องกลับตัวพลิกตะแคง ส่วนระยะเวลานั้นยาวนานหลายวันแต่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของหมอตำแยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีนโยบายชักชวนให้เลิกการอยู่ไฟ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นวิธีทรมาน แต่เหล่าผู้หญิงในราชสำนักก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับและยังคงอยู่ไฟกันต่อไป และจากบันทึกของหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือ ครรภ์รักษา ไม่เห็นด้วยกับการอยู่ไฟดังระบุว่า "ต้องให้เขา (แม่หลังคลอด) นอนในห้องที่สงัดมีลมพัดเย็น ๆ อย่าให้อยู่ไฟเลย ความร้อนของไฟนั้น มักให้จับไข้ ให้ผิวหนังแห้งเหี่ยวไป ไม่เป็นปกติ ให้เกิดโรคต่าง ๆ" และในบันทึกของหมอมัลคอล์ม สมิท เล่าว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นต้นแบบให้สมาชิกราชวงศ์เลิกอยู่ไฟเมื่อพระองค์ทรงคลอดพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์[1] จนเมื่อโรงพยาบาลศิริราชตั้งขึ้นในปี 2431 ยังคงวิธีการคลอดแบบดั้งเดิม คือ ให้วงสายสิญจ์และแขวนยันต์รอบห้อง พร้อมขอให้มีการอยู่ไฟหลังคลอด แม้หมอและพยาบาลจะชักชวนให้ใช้วิธีแผนใหม่ แต่ก็ไม่มีใครยอม จนเมื่อความทราบถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์จึงมีกระแสรับสั่งแก่ผู้มาคลอดว่า หากเปลี่ยนมาใช้วิธีใหม่ตามคำแนะนำ จะพระราชทานเงินทำขวัญลูกที่คลอดคนละ 4 บาท ส่งผลให้ผู้คนเริ่มสมัครใจทำตามขึ้นเรื่อย ๆ[2]ในปัจจุบันในประเทศไทยยังคงมีการอยู่ไฟ โดยประยุกต์ให้ปลอดภัยมากขึ้น ใช้ไฟเบาลง ใช้ระยะเวลาไม่นาน ระยะเวลาเป็นชั่วโมง ไม่เหมือนแต่เดิมที่ทำเป็นวัน ๆ[3]