อรรถาธิบาย ของ การอุปถัมภ์

เจมส์ ซี สกอตต์ (James C. Scott, 2539: 47-53)[4] ได้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ไว้ว่า เป็นกรณีของความสัมพันธ์คู่ ที่เป็นกลไกของความสัมพันธ์ (instrumental relationship) ในลักษณะที่บุคคลหนึ่งจะมีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับสูงจะเป็นผู้อุปถัมภ์ ที่จะใช้อิทธิพลและทรัพยากรของตนในการช่วยปกป้องคุ้มครองหรือให้ผลประโยชน์หรือทั้งสองอย่างแก่บุคคลที่มีสถานภาพต่ำกว่าคือผู้รับอุปถัมภ์ ผู้ซึ่งจะต้องตอบแทนโดยการให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนให้บริการแก่ผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์อาจจะสามารถใช้อำนาจในทางเห็นชอบ (sanction) หรือการใช้อำนาจบังคับอย่างแท้จริง (pure coercive) ก็ได้

การใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์ในระดับสากลจะกล่าวถึงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (patron-client relationship) ซึ่งมีความเป็นมาจากระบบฟิวดัล (feudal) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยโรมัน ความไร้เสถียรภาพทางสังคมก่อให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างกัน ความเดือดร้อน สถานการณ์ที่ระบบเครือญาติขาดทรัพยากรที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ปัจเจกบุคคล และในขณะเดียวกันอำนาจกลางก็อยู่ไกลเกินไปหรืออ่อนแอเกินกว่าที่จะคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอได้ ปัจเจกบุคคลที่อ่อนแอจึงต้องหากลไกทางสังคมที่จะช่วยป้องกันให้เขาพ้นจากภัยต่างๆ จึงจำเป็นต้องมาฝากตัวกับผู้ที่มีอำนาจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ของบุคคลที่มีฐานะต่างกัน แต่จากความสัมพันธ์นี้ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน ในปลายสมัยโรมัน เจ้าของที่ดินขนาดเล็กหรือชาวนาเข้าไปขอความคุ้มครองจากเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ และตอบแทนการคุ้มครองดังกล่าวด้วยการช่วยเพาะปลูก หรือเอาที่ดินของตนยกให้เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ แล้วทำกินบนที่ดินเดิมของตนต่อไปในฐานะผู้เช่า ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้จึงเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ (กุลลดา, 2552: 5-6)[5]

นอกจากนี้ ในบริบทปัจจุบัน คำว่าระบบอุปถัมภ์ มักใช้ในสังคมประเทศโลกที่สามหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์สามารถเชื่อมโยงบุคคลที่มีสถานภาพต่ำไปจนถึงบุคคลระดับชาติโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับระบบราชการที่เข้มงวด ในทางการเมืองการปกครองผู้อุปถัมภ์อาจจะสามารถช่วยเหลือผู้รับอุปถัมภ์ของตนในการติดต่อกับระบบราชการ เช่น การช่วยประกันตัว การช่วยฝากลูกเข้าโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น อีกทั้ง เครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ได้กลายมาเป็นวิธีการที่พรรคการเมืองใช้ในการหาคะแนนเสียงในชนบท เช่น การซื้อเสียง การสัญญาว่าจะให้ เป็นต้น หากมองโดยปราศจากอคติ สังคมอุปถัมภ์เป็นสังคมที่มีต้นทุนทางสังคมโดยรวมสูง การใช้ระบบอุปถัมภ์อาจเป็นภาพสะท้อนของการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในสังคมไทยมักมองว่าระบบอุปถัมภ์เป็นวิถีของคนในชนบท และเป็นที่มาของการซื้อเสียง แต่แท้จริงแล้ว สังคมเมือง และสังคมคนกรุงเทพก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์ไม่น้อยไปกว่าสังคมต่างจังหวัด

ใกล้เคียง

การอุปนัยเชิงคณิตศาสตร์ การอุปถัมภ์ การอุปลักษณ์เดสก์ท็อป การอุ่นขึ้นของโลก การอุบัติของทอร์นาโด มีนาคม พ.ศ. 2555 การอุบัติ การอุปนัย การอุตสาหกรรม การอุทธรณ์โดยผล การอุ้มฆ่า