การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้ง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_กุมภาพันธ์_พ.ศ._2500

หลังผลการเลือกตั้งออก สื่อมวลชนได้ประนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”[5]

ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา และ วิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีข่าวเตรียมเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทางหนังสือพิมพ์

ภายหลังเหตุการณ์รัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีใจความสำคัญว่า "มีคณะบุคคลจากการสนับสนุนของชาวต่างชาติจะก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเพื่อจะฉวยโอกาสยึดครองประเทศ จึงขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ" หลังจากนั้นก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารรับผิดชอบจัดการรักษาความสงบ[6] ด้วยทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลนั้นต้องการป้องกันการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาและประชาชน

แต่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังดำเนินต่อได้กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาให้นักศึกษาดำเนินการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นจริงจังขึ้นมาอีก จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์เพื่อกล่าวปราศรัยและรับทราบความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้อนุญาต จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์เริ่มได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอก เผ่า ถูกลดความนิยมลง

โดยในเวลา 15.00 นาฬิกา ในวันเดียวกันนั้นคลื่นมหาชนที่ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เดินขบวนเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอพบพระยารามราชภักดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ปลัดกระทรวงมอบหมายหลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมมหาดไทยออกมาชี้แจงแทน ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนได้ยื่นข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ โดยมีจุดประสงค์สำคัญให้รัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะและให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยขอให้รัฐบาลให้คำตอบภายในวันเดียวกัน ต่อมาจึงเดินขบวนต่อไปที่ท้องสนามหลวงและเปิดไฮด์ปาร์คโจมตีรัฐบาล[7]

จนในเวลา 17.30 นาฬิกา ก็เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญเพื่อไปเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรีเมื่อขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางก็มีประชาชนมาสมทบจนขบวนใหญ่ขึ้นทุกที โดยมีทหารเตรียมสกัดอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่ให้ประชาชนผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ทหารและประชาชนประจันหน้ากันอยู่อย่างตึงเครียดนั้น สุดท้ายฝ่ายทหารก็ยอมเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยฝูงชนได้พังประตูทำเนียบเข้าไป และได้พบรัฐบาลหลายคนรวมทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็อยู่ในที่นั้นด้วย ผู้เดินขบวนได้เรียกร้องโดยตรงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ชี้แจงถึงการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเมื่อจอมพล ป. พูดไม่ยอมรับปากจะจัดการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ประชาชนจึงเกิดไม่พอใจและได้โห่จอมพล ป.และขอให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนซึ่งเมื่อไม่สามารถทัดทานเสียงเรียกร้องของประชาชนได้ จอมพล ป.จึงยอมให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนโดยขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาที่ทางผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นจอมพลสฤษดิ์รับปากว่าจะขอรับไปนำเสนอเพื่อแก้ไขในคณะรัฐบาลภายหลัง ประชาชนจึงพอใจและสลายการชุมนุมและเหตุการณ์ก็คืนสู่ภาวะปกติ จนรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565