การแห่ถอนเงิน
การแห่ถอนเงิน

การแห่ถอนเงิน

การแห่ถอนเงิน เป็นเหตุการณ์ในระบบธนาคารเก็บเงินสดสำรองบางส่วน (fractional reserve banking) เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าจำนวนมากพากันถอนเงินฝากจากสถาบันการเงินในเวลาเดียวกัน และเรียกให้คืนเงินฝากนั้นเป็นเงินสดหรือรูปแบบอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาล โลหะมีค่า หรือเพชรนิลจินดา เพราะเชื่อว่า สถาบันการเงินดังกล่าวมีหรืออาจมีหนี้สินล้นพ้นตัว เหตุการณ์เช่นนี้อาจส่งผลให้สถาบันการเงินไม่มีเงินสดอีกต่อไปและล้มละลายเฉียบพลัน[1]ถ้าแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ภาษาอังกฤษเรียก "bank run" ถ้าหลายแห่ง เรียก "bank panic" และถ้าทุกแห่งหรือเกือบทุกแห่งในประเทศ เรียก "systemic banking crisis" (วิกฤติการณ์ธนาคารทั่วไป)[2]เมื่อสถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลายสืบเนื่องกันไป เศรษฐกิจจะถดถอยระยะยาว เพราะเมื่อธนาคารในประเทศพากันปิดตัวลง บริษัทห้างร้านและผู้บริโภคภายในประเทศจะขาดเงินทุน[3] ตัวอย่าง คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ว่า เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่เสียหายโดยตรงจากการแห่ถอนเงิน[4]การกู้วิกฤติการณ์ธนาคารทั่วไปอาจใช้เงินมหาศาล เช่น ในวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 1970 ถึงปี 2007 ค่าใช้จ่ายเป็นเงินนั้นเฉลี่ยได้ร้อยละสิบสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product) ส่วนยอดความสูญเสียของเศรษฐกิจนั้นเฉลี่ยได้ร้อยละยี่สิบของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ[2]มีการใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลร้ายของการแห่ถอนเงิน เช่น รัฐบาลอุดหนุนธนาคาร ควบคุมธนาคารพาณิชย์ จัดตั้งธนาคารกลางเพื่อให้กู้เงินในยามยาก และคุ้มครองการประกันเงินฝากดังที่สหรัฐอเมริกาตั้งบรรษัทประกันเงินฝากกลาง (Federal Deposit Insurance Corporation) ขึ้นเพื่อการนี้[1] ครั้นผู้คนแห่ถอนเงินกันแล้ว อาจใช้มาตรการเป็นต้นว่า ระงับการถอนเงินชั่วคราว[5] แต่มาตรการเหล่านี้ใช่ว่าเป็นผลเสมอไป แม้มีการประกันเงินฝากแล้วก็ตาม เนื่องจากผู้ฝากเงินมักอกสั่นขวัญแขวนอยู่ เพราะเชื่อว่า จะไม่สามารถเข้าถึงเงินฝากได้ในระหว่างจัดระเบียบธนาคารใหม่[6]

ใกล้เคียง