การอ่านกาลโยค ของ กาลโยค

กาลโยค สามารถอ่านได้โดยการดูตัวเลขที่เขียนไว้ในตาราง แล้วตีเป็นความหมาย เช่น วันธงชัยเป็น 1 หมายความว่า วันอาทิตย์เป็นวันธงชัย วันโลกาวินาศเป็น 4 ก็หมายความว่า วันพุธเป็นวันโลกาวินาศ เป็นต้น โดยตัวเลขที่เขียนไว้ในช่องวัน คือตัวเลขที่นับ 1 จากวันอาทิตย์ เพิ่มทีละหนึ่งไปจนถึง 7 คือวันเสาร์

ส่วนยามนั้น 1 ยาม มีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมง 30 นาที (ไม่ใช่ 3 ชั่วโมงอย่างที่เข้าใจกัน) เริ่มนับตั้งแต่รุ่งเช้า (6:00 น.) ไปจนถึงย่ำค่ำ (18:00 น.) แล้วนับหนึ่งใหม่ตอนย่ำค่ำไปจนถึงรุ่งเช้า จะได้ภาคละ 8 ยามพอดี ถ้าสมมุติว่า ยามธงชัยคือยามที่ 5 ก็ให้นับจาก 6:00 น. (หรือ 18:00 น.) ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 1 ชั่วโมง 30 นาที ก็นับเป็นยามสอง... ในที่สุดเราก็จะได้ว่า ยามธงชัยอยู่ในเวลา 12:00 น. - 13:30 น. (หรือ 00:00 น. - 01:30 น.)

สำหรับราศี ทางโหราศาสตร์ไทยให้ถือว่า ราศี 0 คือราศีเมษ ให้นับแต่ราศีเมษทีละ 1 ไปจนถึง 11 คือราศีมีน สมมุติว่า ราศี 1 เป็นธงชัย ก็แปลความหมายได้ว่า ราศีพฤษภ เป็นราศีธงชัย

ส่วนดิถีนั้น ให้นับ ขึ้น 1 ค่ำ เป็นดิถีที่ 1 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง ขึ้น 15 ค่ำ นับเป็นดิถีที่ 15 จากนั้นนับแรม 1 ค่ำ ต่อ เป็นดิถีที่ 16 จนถึง แรม 15 ค่ำ ก็เป็นดิถีที่ 30 (ดูเพิ่มเติมที่ ดิถี) สมมุติว่า ดิถีที่ 13 เป็นดิถีธงชัย ก็แปลความหมายว่า วันขึ้น 13 ค่ำ เป็นวันธงชัยทางจันทรคติ หรือถ้าสมมุติว่า ดิถีที่ 29 เป็นดิถีโลกาวินาศ ก็แปลความหมายได้ว่า วันแรม 14 ค่ำ เป็นวันโลกาวินาศทางจันทรคติ

อย่างไรก็ดี ส่วนมากเรามักพิจารณาเพียงวันเท่านั้น เพราะถ้าพิจารณาจุดอื่นก็จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น