โอลิมปิกสมัยใหม่ ของ กีฬาโอลิมปิก

บารอน ปิแอร์เดอ ดูเบอร์แตง ต้องการให้การพลศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น สิ่งเหล่านี้รวบรวมอยู่ในกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกถูกจัดขึ้นในสนามหินอ่อนในกรุงเอเธนส์, กรีซ

หลังจากโอลิมปิกโบราณได้ล้มเลิกไปเป็นเวลาถึง 15 ศตวรรษ โอลิมปิกยุคใหม่ก็เกิดขึ้น โดยมีนักกีฬาคนสำคัญของฝรั่งเศสชื่อ ปิแอร์ เดอ ดูเบอร์แตง ท่านขุนนางผู้นี้เกิดในกรุงปารีส เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) สนใจประวัติศาสตร์ ปัญหาการเมืองและสังคม ในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) ท่านอายุได้ 26 ปี ได้เกิดความคิดที่จะฟื้นฟูการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งได้ล้มเลิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) โดยติดต่อกับบุคคลสำคัญของประเทศอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นเวลาถึง 4 ปี ในที่สุดได้เปิดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการขึ้น ที่ตำบลซอร์บอนน์ ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) และประกาศ ณ ที่นั้นว่า การแข่งขันโอลิมปิกซึ่งได้หยุดมานานกว่า 15 ศตวรรษ จักได้พื้นขึ้นใหม่เป็นการปัจจุบัน และแผนการของงานโอลิมปิกปัจจุบันนั้น ได้เป็นที่ตกลงกันในที่ประชุมจำนวน 15 ประเทศ ณ ตำบลซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส

คณะกรรมการผู้ริเริ่ม ได้ลงมติว่า ให้ทำการเปิดการแข่งขันโอลิมปิกปัจจุบันขึ้น โดยกำหนด 4 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยให้ประเทศสมาชิกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ แต่การเปิดแข่งขันครั้งแรกให้เริ่ม ณ กรุงเอเธนส์ ใน พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการกำเนิดกีฬาโอลิมปิกเมื่อครั้งโบราณ จากนั้นเป็นต้นมา การแข่งขันและวิธีเล่นกรีฑาก็พัฒนาไปอย่างกว้างขวาง และการแข่งขันทุก ๆ ครั้ง ให้ถือเอากรีฑาเป็นกีฬาหลัก ซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการแข่งขันแต่ละครั้ง

เจ้าภาพ

การกำหนดว่าประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไปนั้น กระทำขึ้น ณ สถานที่ที่การแข่งขันครั้งล่าสุดดำเนินอยู่นั้นเอง คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะพิจารณาบรรดาประเทศสมาชิกที่เสนอขอจัด และมีอำนาจเด็ดขาดที่จะลงมติให้ประเทศใดเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ในวันพิธีเปิดการแข่งขันครั้งล่าสุดนั้น ประเทศที่ได้รับพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพ ถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับความไว้วางใจ อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อประชาชนทั้งประเทศ

สมาชิก

ในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิกโอลิมปิกประมาณ 197 ประเทศ แต่บางประเทศไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะเป็นประเทศเล็ก ขาดความพร้อมในเรื่องตัวนักกีฬา บารอน ปิแอร์เดอ ดูเบอร์แตง ได้ให้นิยามการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกว่า ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นไม่เลือกผิวพรรณ ศาสนา ลัทธิการปกครอง แต่อย่างใด ความหมายการแข่งขันเพื่อให้นักกีฬาชาติต่าง ๆ ได้มาร่วมชุมนุมกัน ตัวนักกีฬาเปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรีส่งมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมเล่นสนุกสนานด้วยความเห็นอกเห็นใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดทั้งสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน อันนำมาซึ่งความสามัคคีและเพื่อสันติภาพของโลก การแพ้หรือชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเข้าร่วม”

รางวัล

รางวัลของการแข่งขันในสมัยโบราณผู้ที่ชนะจะได้รับการสรรเสริญมาก รางวัลที่ให้แก่ผู้ชนะในสมัยนั้น คือ กิ่งไม้มะกอกซึ่งตัดมาจากยอดเขาโอลิมปัส อันเป็นที่สิงสถิตของซุส แล้วทำเป็นวงคล้ายมงกุฎ จักรพรรดิจะเป็นผู้พระราชทานครอบลงบนศีรษะของผู้ชนะนั้น ๆ พร้อมทั้งได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ชนรุ่นหลังศึกษาและชื่นชมต่อไป

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยปัจจุบันแบ่งรางวัลเป็นสามระดับ คือ เหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ให้แก่ผู้ชนะเลิศ, ผู้ชนะเลิศที่สอง และที่สามตามลำดับ ส่วนอันดับที่สี่ไปถึงอันดับที่หก จะได้ประกาศนียบัตรการเข้าร่วมการแข่งขัน

คบเพลิงโอลิมปิก

ดูบทความหลักที่: คบเพลิงโอลิมปิก
ก่อนกีฬาโอลิมปิกหลายเดือน จะมีผู้วิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิกจากเขาโอลิมเปียมาสู่พิธีเปิด

โคมไฟโอลิมปิก เมื่อมีการแข่งขันโอลิมปิกจะมีการจุดไฟกองใหญ่ขึ้นบนยอดเขาโอลิมปัส เพื่อให้ความสว่างไสว และเพื่อเป็นสัญญาณประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า การเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว พิธีการจุดไฟนั้น เริ่มแรกทำบนยอดเขาโอลิมปัส โดยใช้แว่นรวมแสงอาทิตย์ไปยังเชื้อเพลิง เมื่อติดไฟแล้ว จึงนำตะเกียงต่อเอาไว้ ไฟกองใหญ่จะคงลุกโชติช่วงต่อไปจนตลอดงานฉลอง ส่วนตะเกียงนั้นจะมีการวิ่งถือไปทั่วทุกนครรัฐ ด้วยการส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากนักวิ่ง คนละ 2 ไมล์ หากผ่านทะเลหรือแม่น้ำก็จะลงเรือข้ามฟากโดยไฟไม่ดับ ไฟนี้ชาวกรีก ถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ และความสงบสุขของชาวกรีก ซึ่งพระเจ้าจะทรงพระพิโรธต่อบุคคลที่ไม่สนใจในกิจการนี้

โอลิมปิกในปัจจุบัน ยังคงรักษาประเพณีเรื่องการจุดไฟไว้ดังเดิมทุกประการ กล่าวคือ ก่อนจะมีการแข่งขันจะมีพิธีจุดไฟ ณ เขาโอลิมปัส ผู้จุดคือ สาวพรหมจารีย์ผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ต่อไฟจากแว่นรวมแสงของดวงอาทิตย์ด้วยคบเพลิง และไฟนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศเจ้าภาพ และมีการวิ่งถือคบเพลิงส่งต่อกันไปจุดที่กระถางใหญ่บริเวณงานในวันแรกของพิธีเปิดการแข่งขัน ไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มจุด ณ ภูเขาโอลิมปัส จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนั้น ๆ

สัญลักษณ์โอลิมปิก

ดูบทความหลักที่: สัญลักษณ์โอลิมปิก
ธงโอลิมปิก

ธงโอลิมปิกมีผืนธงเป็นสีขาว ขนาดมาตรฐานยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ส่วนเครื่องหมายห้าห่วงคล้องกันอยู่บนกลางธง ขนาด 2 เมตร คูณ 0.60 เมตร มีสีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว สีแดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา คล้องไขว้กันอยู่ตรงกลางสองแถว แถวบน 3 ห่วง แถวล่าง 2 ห่วง ห่วงสีที่คล้องกันอยู่ตรงกลางธงบนพื้นธงสีขาว รวมเป็น 6 สี โดยแท้จริงแล้ว ห้าห่วงหมายถึง ห้าส่วนของโลกที่อยู่ในโอบอ้อมของ “โอลิมปิกนิยม” มิเจาะจงเป็นห้าทวีปในโลกอย่างที่เข้าใจกัน แต่บังเอิญห้าทวีปนี้ก็เป็นห้าส่วนของโลกก็เลยอนุโลมกันไปเช่นนั้น ส่วนสีที่ห่วง 5 สี มิได้หมายถึงสีประจำทวีป ซึ่งสีทั้งหมด 6 สี รวมทั้งสีขาวที่เป็นพื้นธง หมายความว่า ธงชาติของประเทศต่าง ๆ ในโลกประกอบด้วยสีใดสีหนึ่งหรือมากกว่านั้นในจำนวนหกสีนั้น และไม่มีธงชาติของประเทศใดที่มีสีนอกเหนือไปจากหกสีนี้

ด้านล่างของห่วงมีคำอยู่ 3 คำ ซึ่งเป็นภาษาโรมัน แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้

Citius (swifter) : ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุดAltius (higher) : ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุดFortius (stronger) : ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด

ใกล้เคียง

กีฬาโอลิมปิก กีฬาโอลิมปิกเยาวชน กีฬาโรงเรียนกีฬาแห่งประเทศไทย กีฬาโปโลน้ำในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 กีฬาโปโลน้ำในโอลิมปิกฤดูร้อน กีฬาโอลิมปิกโบราณ กีฬาโอลิมปิกซ้อน 1906 กีฬาโปโลน้ำในซีเกมส์ 2017 กีฬาโปโลน้ำในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 – ทีมหญิง กีฬาโปโลน้ำในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 – ทีมชาย

แหล่งที่มา

WikiPedia: กีฬาโอลิมปิก http://www.britannica.com/EBchecked/topic/428005/O... http://www.perseus.tufts.edu/Olympics/sports.html http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?doc=Per... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?doc=Per... http://www.perseus.tufts.edu/cgi-bin/ptext?doc=Per... http://www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perse... http://multimedia.olympic.org/pdf/en_report_658.pd... http://www.olympic.org http://www.webcitation.org/5gKmnnDyw //www.worldcat.org/oclc/10818363