สถานะทางสังคม ของ กีแซง

ตลอดสมัยโครยอและโชซ็อน กีแซงอยู่ในสถานะช็อนมิน ซึ่งเป็นสถานะต่ำที่สุดในสังคม เช่นเดียวผู้ให้ความบันเทิงคนอื่น ๆ คนขายเนื้อ และทาส สถานะส่งต่อกันทางสายเลือด ดังนั้นลูกของกีแซงก็มีสถานะช็อนมิน และลูกสาวก็กลายเป็นกีแซงโดยอัตโนมัติเช่นกัน[4] ในสมัยโครยอ หน่วยงานปกครองในแต่ละเขตได้เริ่มลงทะเบียนกีแซงไว้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำกับดูแลอย่างถี่ถ้วน[5] มีการปฏิบัติตามแนวทางเดียวกันกับทาสที่ถูกเกณฑ์ กีแซงสามารถเป็นอิสระได้ก็ต่อเมื่อจ่ายค่าไถ่จำนวนมาก จึงมีเพียงผู้มั่งคั่งเท่านั้นที่จะไถ่กีแซงได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นขุนนางระดับสูง[6]

กีแซงหลายคนมีทักษะด้านกวีนิพนธ์ โคลงซิโจที่แต่งโดยกีแซงจำนวนมากยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน กวีนิพนธ์ของกีแซงมักสะท้อนถึงความโศกเศร้าและการจากลา คล้ายกับบทกวีที่แต่งโดยนักปราชญ์ที่ถูกเนรเทศ[7] นอกจากนี้ บทกวีของกีแซงที่โด่งดังบางบทแต่งขึ้นเพื่อชักชวนนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงให้มาค้างคืนด้วย[8] รูปแบบโคลงซิโจในช่วงหลังยังเข้ามาเกี่ยวข้องกับกีแซงหญิง ในขณะที่ผู้หญิงที่มีสถานะยังบันมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการประพันธ์แบบกาซา[9]

กวาน-กี คือกีแซงในสังกัดสำนักรัฐบาลท้องถิ่น และสถานะของพวกเขาก็แตกต่างไปจากทาสทั่วไปที่สังกัดอยู่ในสำนักเดียวกัน กีแซงถือว่ามีสถานะสูงกว่าทาสอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าตามหลักการแล้ว พวกเขาทั้งหมดมีสถานะเป็นช็อนมินเหมือนกัน[10]

ใกล้เคียง