ผลิตภัณฑ์ ของ กูเกิล_แอปส์

ผลิตภัณฑ์และบริการที่มากมายของ Google Apps for Work ประกอบไปด้วย Gmail, Google ปฏิทิน, Google ไดรฟ์, แฮงเอาท์, Google เอกสาร, Google ชีต, Google สไลด์, Google ฟอร์ม, Google Sites, Google+ และ Google Apps ห้องนิรภัย หากไม่นับ Google Apps ห้องนิรภัย[29] ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะรวมอยู่ในแผนการให้บริการพื้นฐานในราคารายละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือรายละ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วน Drive for Work ซึ่งเป็นแพ็กเกจพรีเมียมจะรวม Google Apps ห้องนิรภัยและพื้นที่จัดเก็บแบบไม่จำกัดในราคารายละ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน[30]

Gmail

Gmail ได้กลายมาเป็นบริการอีเมลบนเว็บที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก หลังจากที่เปิดตัวในวงจำกัดในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 [31]ผู้บริโภคทุกคนสามารถใช้งาน Gmail ได้ในปี 2550 Google ระบุว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา มีผู้คนถึง 425 ล้านคนใช้ Gmail[32]

Gmail เวอร์ชันฟรีสำหรับผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนโดยโฆษณาแบบข้อความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของข้อความในอีเมลของผู้ใช้[33] คุณลักษณะยอดนิยม ได้แก่ พื้นที่จัดเก็บฟรี 15 GB การสนทนาที่แสดงเป็นชุดข้อความ และความสามารถในการค้นหาที่แม่นยำ และอินเทอร์เฟซที่คล้ายกับแอป[34]

แม้ Gmail ใน Google Apps for Work จะคล้ายคลึงกับเวอร์ชันฟรี แต่มีคุณลักษณะที่เพิ่มขึ้นมากมายซึ่งออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ภาคธุรกิจ.[35]

คุณลักษณะเหล่านี้ได้แก่

  • อีเมลแบบกำหนดเองที่มีชื่อโเมนของลูกค้า (@บริษัทของคุณ.com)
  • รับประกันความพร้อมในการใช้งาน 99.9% และไม่มีกำหนดหยุดให้บริการเพื่อทำการซ่อมบำรุง[36]
  • พื้นที่จัดเก็บขนาด 30 GB หรือไม่จำกัดที่แชร์ใน Google ไดรฟ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการให้บริการที่เลือก
  • ไม่มีโฆษณา
  • การสนับสนุนทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
  • Google Apps Sync สำหรับ Microsoft Outlook[35]

Google ไดรฟ์

บริการการจัดเก็บไฟล์และการซิงค์ของ Google เปิดตัวในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555,[37] กว่า 6 ปีหลังจากที่มีข่าวลือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้[38] คำประกาศอย่างเป็นทางการของ Google อธิบายว่า Google ไดรฟ์เป็น "สถานที่ที่คุณสามารถสร้าง แชร์ ทำงานร่วมกัน และเก็บทุกสิ่งของคุณ"[37]

Google ไดรฟ์ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดไฟล์ประเภทใดก็ได้ลงในระบบคลาวด์ แชร์ไฟล์กับคนอื่นๆ และเข้าถึงไฟล์นั้นจากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์อัจฉริยะเครื่องใดก็ได้ ผู้ใช้สามารถซิงค์ไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์และระบบคลาวด์ได้ง่ายๆ ด้วยแอปพลิเคชันบนเดสก์ท็อปสำหรับ Mac และพีซี แอปนี้จะวางโฟลเดอร์พิเศษลงบนคอมพิวเตอร์ของพวกเขาและการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับไฟล์จะซิงค์ทั่วทั้งไดรฟ์ บนเว็บ และอุปกรณ์ทุกเครื่อง Google ไดรฟ์เวอร์ชันฟรีสำหรับผู้บริโภคจะมอบพื้นที่จัดเก็บขนาด 15 GB สำหรับร่วมใช้ระหว่าง Gmail ไดรฟ์ และ รูปภาพใน Google+[39]

เมื่อได้รับการนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของ Google Apps for Work ฉะนั้น Google ไดรฟ์จึงมาพร้อมกับคุณลักษณะเพิ่มเติมที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานธุรกิจ คุณลักษณะเหล่านี้ได้แก่

  • พื้นที่จัดเก็บขนาด 30 GB หรือไม่จำกัดที่แชร์ใน Gmail ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการให้บริการที่เลือก
  • การสนับสนุนทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
  • การควบคุมการแชร์ที่รักษาให้ไฟล์เป็นส่วนตัวจนกว่าลูกค้าจะตัดสินใจที่จะแชร์
  • การตรวจสอบและการรายงานขั้นสูง[40]

Google เอกสาร, ชีต, สไลด์ และฟอร์ม

Google Apps มีโปรแกรมแก้ไขออนไลน์สำหรับการสร้างข้อความเอกสารหรือรูปแบบไฟล์เอกสาร, สเปรดชีต, งานนำเสนอ และแบบสำรวจ[41] ชุดเครื่องมือนี้เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในชื่อ Google เอกสารและสเปรดชีต[42]

Google เอกสาร ชีต สไลด์ และฟอร์มนั้นสามารถทำงานภายในเว็บบราว์เซอร์ใดก็ได้ หรือบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ใดก็ได้ที่สามารถเปิดใช้เว็บ ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถสามารถแชร์ แสดงความคิดเห็น และแก้ไขเอกสาร สเปรดชีต สไลด์ และฟอร์มร่วมกันได้แบบเรียลไทม์ คุณลักษณะเพิ่มเติมรวมถึงประวัติการแก้ไขแบบไม่จำกัด ซึ่งเก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไว้อย่างปลอดภัยในที่เดียว และการเข้าถึงได้แบบออฟไลน์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต[43]

ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 Google ได้เปิดตัวการแก้ไขแบบดั้งเดิมสำหรับไฟล์ Microsoft Office ใน Google เอกสาร ชีต และสไลด์[44] นักเขียนของ Mashable ได้แสดงความคิดเห็นคล้ายๆ กับบทความอื่นๆ ว่า "Google กำลังวางจุดยืนของแอปให้เป็นทางออกในแง่ราคาที่เอื้อมถึงมากขึ้นสำหรับบริษัทที่ต้องแก้ไขไฟล์ Office เป็นครั้งคราว"[45]

Google Sites

เปิดตัวขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 Google Sites ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างและแก้ไขหน้าเว็บได้แม้ว่าจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับ HTML หรือการออกแบบเว็บก็ตาม[46] ผู้คนสามารถสร้างไซต์เองตั้งแต่ต้นหรือสร้างจากเทมเพลตก็ได้ อัปโหลดเนื้อหา เช่น รูปภาพและวิดีโอ[46] และควบคุมสิทธิ์ในการเข้าถึงโดยเลือกผู้ที่สามารถดูและแก้ไขแต่ละหน้าได้[47]

Google Sites เปิดตัวในฐานะส่วนหนึ่งของชุดโปรแกรม Google Apps แบบชำระเงิน แต่ต่อมาไม่นานก็พร้อมให้บริการกับผู้บริโภคทั่วไปเช่นกัน ลูกค้าภาคธุรกิจใช้ Google Sites ในการสร้างไซต์ โครงการอินทราเน็ตของบริษัท และไซต์ที่เข้าถึงได้จากสาธารณะ[48]

Google ปฏิทิน

ออกแบบมาเพื่อรวมเข้ากับ Gmail ซึ่งเป็นบริการปฏิทินออนไลน์ของ Google ที่เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้บริโภคทั่วไปในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยปฏิทินใช้มาตรฐาน iCal เพื่อให้สามารถใช้งานกับแอปพลิเคชันปฏิทินอื่นๆ[49]

ปฏิทินออนไลน์ของ Google เป็นปฏิทินผสานรวมระบบทางออนไลน์ที่สามารถแชร์ร่วมกันได้และออกแบบมาสำหรับการทำงานเป็นทีม[50] บริษัทต่างๆ สามารถสร้างปฏิทินแบบเฉพาะทีมและแชร์ร่วมกับทุกคนในบริษัทได้[51] ผู้ใช้สามารถมอบหมายปฏิทินไปให้อีกคนหนึ่งจัดการปฏิทินหรือกิจกรรมใดที่เฉพาะเจาะจงก็ได้[52] ผู้ใช้สามารถตรวจดู Google ปฏิทินเพื่อดูว่าห้องประชุมหรือทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันนั้นว่างไหม และทำการจองได้

คุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ของ Google ปฏิทิน ได้แก่

  • แชร์ปฏิทินกับเพื่อนร่วมทีมและคนอื่นๆ เพื่อตรวจสอบเวลาว่างของกันและกัน
  • ซ้อนทับปฏิทินของทีมงานลงในมุมมองเดียวเพื่อหาเวลาที่ทุกคนว่างพร้อมกัน
  • ใช้แอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือซิงค์กับปฏิทินในตัวของอุปกรณ์เคลื่อนที่
  • เผยแพร่ปฏิทินไปยังเว็บ และรวมไว้ใน Google Site
  • การย้ายข้อมูลจาก Exchange, Outlook หรือ iCal หรือจากไฟล์ .ics และ .csv อย่างง่ายดาย
  • จองห้องและทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน[51]

Google แฮงเอาท์

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 Google ได้ประกาศว่าพวกเขามีเครื่องมือใหม่ในการส่งข้อความ ข้อความเสียง และวิดีโอแชทจะมาแทนที่ Google Talk, Google Voice และบริการ Google+ แฮงเอาท์[53] Google แฮงเอาท์อนุญาตให้ผู้บริโภคเข้าร่วมในการสนทนาจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ได้สูงสุด 10 คน สำหรับเวอร์ชันฟรีและ 15 คนสำหรับเวอร์ชันธุรกิจ[54] ผู้เข้าร่วมสามารถแชร์หน้าจอ รวมถึงดูและทำงานร่วมกันได้[55] บริการแฮงเอาท์ ออนแอร์ ทำให้ผู้คนสามารถสตรีมการถ่ายทอดสดไปยัง Google+, YouTube และลงในเว็บไซต์ของพวกเขาได้[56]

เวอร์ชันของแฮงเอาท์ที่รวมอยู่กับ Google Apps for Work[57] รองรับผู้เข้าร่วมประชุมสูงสุด 15 สายและผู้ดูแลระบบสามารถเลือกที่จะจำกัดแฮงเอาท์สำหรับคนที่อยู่ในโดเมนเดียวกันเท่านั้น ซึ่งจะป้องกันการเข้าถึงจากผู้เข้าร่วมภายนอกได้[58]

แอปแฮงเอาท์จัดเก็บข้อความทางออนไลน์ไว้ในระบบคลาวด์ของ Google และมอบตัวเลือกที่จะปิดประวัติหากพวกเขาไม่อยากถูกบันทึก[59] การผสานรวมกับ Google+ จะบันทึกรูปทุกรูปที่ถ่ายด้วยกันในอัลบั้มส่วนตัวหรือแชร์บน Google+[59]

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 Google ประกาศว่าลูกค้าของ Google Apps จะสามารถใช้แฮงเอาท์ได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีโปรไฟล์ Google+ ก็ตาม[60] Google ยังร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ให้บริการวิดีโอแชทรายอื่นๆ เพื่อรวมบริการเข้าด้วยกัน เช่น Blue Jeans Network และ Intercall[61] Google ได้ประกาศว่าแฮงเอาท์จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในการให้บริการเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ Google Apps for Work อื่นๆ อย่างเช่น Gmail และไดรฟ์ ลูกค้าของ Apps for Work ยังจะได้รับการสนับสนุนทางโทรศัพท์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง การรับประกันความพร้อมในการใช้งาน 99.9% และใบรับรอง ISO27001 และ SOC 2[62]

ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557 Google ได้ประกาศผ่านโพสต์ Google+ ว่าพวกเขาได้นำคุณลักษณะที่คนเรียกร้องมากที่สุดกลับมาใช้งานสำหรับแฮงเอาท์ใน Gmail แล้ว ผู้ดูแลระบบของ Apps สามารถควบคุมให้ข้อความแสดงสถานะปรากฏเป็นการภายในเท่านั้น[63]

Google+

บริการเครือข่ายสังคมของ Google ในชื่อ Google+ (Google พลัส) เปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ในรูปแบบการทดลองใช้งานแบบต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น[64] ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่านี่เป็นความพยายามล่าสุดของ Google ที่จะสู้กับยักษ์ใหญ่แห่งโลกโซเชียลอย่าง Facebook[65] แม้ว่าในตอนนั้น Google+ ได้แซง Twitter ขึ้นมาเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Facebook แล้ว[66] แต่ Google+ ก็ได้รับคำวิจารณ์ว่าทำให้ผู้ใช้ผิดหวังและไม่สามารถสร้าง referral traffic ได้ตามความคาดหมาย[67]

27 ตุลาคม พ.ศ. 2554 Google ได้ประกาศว่า Google+ จะพร้อมใช้งานสำหรับผู้ที่ใช้ Google Apps ที่มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และที่บ้าน[68]

29 สิงหาคม พ.ศ. 2555 Google ประกาศว่าหลังจากที่ได้รับคำติชมจากลูกค้าภาคธุรกิจที่เข้าร่วมในโครงการนำร่อง พวกเขาจึงปรับแต่งคุณลักษณะของ Google+ สำหรับองค์กรโดยเฉพาะ คุณลักษณะเหล่านี้รวมถึงการแชร์แบบส่วนตัวภายในองค์กรและผู้ดูแลระบบสามารถจำกัดการมองเห็นโปรไฟล์และโพสต์ได้[69]

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 Google ได้เพิ่มระดับความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับชุมชนที่จำกัดที่ผู้เข้าร่วมจะต้องเป็นคนในองค์กรเท่านั้น ผู้ดูแลระบบมีตัวเลือกในการตั้งค่าชุมชนแบบจำกัดเป็นค่าเริ่มต้นและเลือกว่าเมื่อใดคนจากนอกองค์กรจึงจะสามารถเข้าร่วมได้[70]

บทบาทของ Google+ ในฐานะเครือข่ายธุรกิจได้รับคำติชมคละกันไปต่างๆ นานาตั้งแต่การมีคุณลักษณะที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเป็นที่รู้จัก [71]ทำให้คนสับสนจากการสร้างแบรนด์[72] ไปจนถึงการเป็นผู้เล่นที่สำคัญในกลยุทธ์การตลาดโซเชียลสำหรับธุรกิจ[73] บทความทางออนไลน์มากมายเน้นย้ำว่าการใช้ Google+ ช่วยให้ธุรกิจติดอันดับในผลการค้นหาของ Google เนื่องจากโพสต์และแชร์ของ Google+ จะได้รับการจัดทำดัชนีโดย Google ทันที[74]

Google Apps ห้องนิรภัย

Google Apps ห้องนิรภัยเป็นบริการการจัดเก็บถาวรและ eDiscovery ที่พร้อมให้บริการกับลูกค้า Google Apps โดยเฉพาะและเปิดตัวในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555[75] ห้องนิรภัยช่วยให้ลูกค้าสามารถค้นหาและจัดเก็บข้อความอีเมลที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี บริการนี้ยังช่วยจัดการข้อมูลทางธุรกิจเพื่อรักษาความต่อเนื่อง ความสอดคล้อง และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับได้[76] ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ลูกค้าของห้องนิรภัยสามารถค้นหา ดูตัวอย่าง และส่งออกไฟล์ Google ไดรฟ์ได้[77]

Google Apps ห้องนิรภัยนี้รวมเป็นส่วนหนึ่งของ Drive for Work พร้อมพื้นที่จัดเก็บแบบไม่จำกัดในราคารายละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน[78]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กูเกิล_แอปส์ http://googleappsupdates.blogspot.com/2014/06/intr... http://googleappsupdates.blogspot.com/2014/12/cust... http://googleblog.blogspot.com/2006/02/big-mail-on... http://googleblog.blogspot.com/2006/04/its-about-t... http://googleblog.blogspot.com/2008/05/google-site... http://googleblog.blogspot.com/2009/07/google-apps... http://googleblog.blogspot.com/2010/03/open-for-bu... http://googleblog.blogspot.com/2010/07/introducing... http://googleblog.blogspot.com/2011/06/introducing... http://googleblog.blogspot.com/2012/04/introducing...