การทำงาน ของ ขุนพันธรักษ์ราชเดช_(บุตร_พันธรักษ์)

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตำรวจตรี

ในปีเดียวกัน ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไป โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มี นายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นเจ้าพระยาศรีสุรเสนาไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473[3]พลตำรวจ เผือก ชูด้วง เป็นสิบตำรวจตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท

หลังจากนั้นมาอีก 1 ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่น ๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธรักษ์ราชเดช'" ศักดินา ๔๐๐ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 [4] และในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ได้รับเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.)[5]และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา ในปี พ.ศ. 2479 ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน

การปราบโจรครั้งสำคัญและทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากคือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ. 2481 หัวหน้าโจรชื่อ "อะแวสะดอ ตาและ" นัยว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ฯ จับได้ ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ" หรือแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู" และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปีเดียวกัน[6] พ.ศ. 2482 ขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ. 2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ

หลังจากนั้นขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือปีพ.ศ. 2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้ม หรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี พ.ต.ต. เมื่อวันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน[7]ปีพ.ศ. 2488 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพิเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์เป็นผู้อำนวยการกองปราบและพ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นรองผู้อำนวยการกองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2488 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้าย แต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ฯ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท

ครั้งนั้นขุนพันธ์ฯ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า "ขุนพันธ์ดาบแดง" ฝีมือขุนพันธ์ฯ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 20,000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่สนใจ คงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมที่กำแพงเพชร ขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจและขุนพันธ์ฯ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ฯ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วนและแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดกำแพงเพชร

เมื่อปี พ.ศ. 2492 ขุนพันธ์ฯ ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ให้มีสมรรถภาพขึ้นและปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกรกับเสือวันแห่งอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของท่านยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล

แหล่งที่มา

WikiPedia: ขุนพันธรักษ์ราชเดช_(บุตร_พันธรักษ์) http://people.mthai.com/other/4898.html http://www.naewna.com/news.asp?ID=66971 http://www.sianpra.net/index.php?lay=show&ac=artic... http://www.m-culture.go.th/nakhonsithammarat/index... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/D/...