ข้าวโพดคั่วในโรงภาพยนตร์ ของ ข้าวโพดคั่ว

จากความเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ และการเปิดโรงภาพยนตร์จำนวนนับไม่ถ้วน ทำให้ข้าวโพดคั่วกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงแบบใหม่ ในช่วงต้น เครื่องผลิตข้าวโพดคั่วมักจะอยู่นอกโรงภาพยนตร์ ผู้ควบคุมเครื่องมักจะต้องเช่าสถานที่จากเจ้าของโรงภาพยนตร์ สมัยที่เป็นหนังเงียบ บางครั้งมีเสียงดนตรีคลอ ในช่วงบรรเลงดนตรีนั้น ยังมีเสียงกรุบกรับของผู้ชมที่สนุกกับข้าวโพดคั่วพอๆ กับความสนุกกับภาพยนตร์

เครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์และนำออกจำหน่ายประมาณปี ค.ศ. 1925 เป็นเครื่องแก้วมันวาวและเครื่องไฟฟ้าสีโครเมียม ทำให้ข้าวโพดคั่วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก

มีสถิติว่า ในปี ค.ศ. 1922 สหรัฐอเมริกาเพาะปลูกข้าวโพดสำหรับใช้ทำข้าวโพดคั่วประมาณ 15,000 เอเคอร์ เมื่อมีเครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้า ข้าวโพดคั่วนำรายได้มาสู่ผู้ปลูกพอสมควร จนได้รับสมญานามว่า "ทิวทองแห่งท้องทุ่ง" (prairie gold) และเมื่อปี ค.ศ. 1967 ผลผลิตต่อปีของข้าวโพดมีค่าประมาณ 432 ล้านปอนด์ รัฐอินเดียนา ไอโอวา อิลลินอยส์ โอไฮโอ และเคนตั้กกี้ เป็นผู้นำในการผลิตข้าวโพดคั่วของสหรัฐอเมริกา

เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 เมื่อโทรทัศน์แพร่หลายมากขึ้น ข้าวโพดคั่วไม่ได้นิยมรับประทานเฉพาะในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปรับประทานกันหน้าจอโทรทัศน์ และเริ่มมีการโฆษณาข้าวโพดคั่วในช่วงโฆษณาของรายการ ในบางพื้นที่มีข้าวโพดคั่วขายในห่อฟอยล์ ซึ่งใช้คั่วแล้วทิ้งได้