การเรียนการสอน ของ คณะทันตแพทยศาสตร์_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

  • ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) Doctor of Dental Surgery Programme (D.D.S.)

หลักสูตรมุ่งหมายผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถมีศักยภาพในการบูรณาการองค์ความรู้และมีทักษะการปฏิบัติงานอย่างรอบด้านที่ได้มาตรฐานสากลและตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรอื่นในทีมสุขภาพในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สุขภาพช่องปากที่ดีให้แก่ประชาชน สามารถปฏิบัติงานได้ในโรงพยาบาลทุกระดับและดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนตามขอบเขตที่รับผิดชอบ มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลพร้อมต่อการเป็น global citizen ที่พร้อมทำงานในทุกที่ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสามารถบูรณาการความรู้ร่วมกับนักวิชาการแขนงต่างๆ ตลอดจนตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพลเมืองที่ดี และมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประชาคมไทย

  • ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) หลักสูตรทวิภาษา Doctor of Dental Surgery Programme (D.D.S.) (Bilingual)

หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรทวิภาษา) เน้นการพัฒนาและปลูกฝังการเรียนรู้ของนักศึกษาทันตแพทย์ เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพและสังคม ตลอดจนการพัฒนาด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อรองรับ AEC อีกทั้งเพื่อผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึง สภาวะที่แท้จริงของสังคมและวัฒนธรรมไทย เพื่อให้บัณฑิตสามารถพัฒนาตนเอง ให้เหมาะสมกับบริบท ของประเทศ เป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะและหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีสมรรถนะที่พึงประสงค์ตรงตามความต้องการของสภาวิชาชีพและสังคม

จัดการศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มี 2 ลักษณะ คือ

  • จัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย (Lecture type) ในปีการศึกษาที่ 1 ถึงปีการศึกษาที่ 3 ภาคต้น
  • จัดการเรียนการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning, PBL) ซึ่งมีลักษณะเป็นการบรรยาย และการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน เรียกการจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียน (block or module)

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมรากเทียม (Master of Science (Dental Implantology)

หลักคิดในการออกแบบหลักสูตร คือ มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในการให้บริการ ทันตกรรมรากเทียมทั้งระบบรากเทียมที่ผลิตในประเทศไทย และต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการดูแล ผู้ป่วยสูงอายุแบบองค์รวม และเป็นหลักสูตรนานาชาติที่เปิดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ รับนักศึกษาจากทุกประเทศทั่ว โลก โดยเน้นให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย AEC ซึ่งจะผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถให้บริการทันตกรรมรากเทียมแบบบูรณาการ

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมผู้สูงอายุ Master of Science (Geriatric Dentistry)

หลักสูตรมุ่งหมายผลิตมหาบัณฑิตที่บูรณาการความรู้จากสหวิทยาการ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมผู้สูงอายุแบบองค์รวม และสามารถผลิตงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเพื่อสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในประเทศไทย

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก (หลักสูตรนานาชาติ) Doctor of Philosophy Programme (Oral Health Science), Ph.D. (Oral Health Science)

องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก (Oral Health Science) หรือทันตแพทยศาสตร์มีพื้นฐานและความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ และแพทยศาสตร์ ดังนั้น ในการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน ทันตแพทย์จึงควรต้องมีความรู้และความชำนาญไม่เพียงแต่ทางทันตกรรมเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในคลินิก ทันตแพทย์ในปัจจุบันจะต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในช่องปาก รวมทั้งการบูรณาการความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปากขั้นสูงและความรู้วิทยาศาสตร์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาอธิบายสาเหตุของการเกิดโรคในช่องปากหรือพัฒนาแนวทางและวิธีการบำบัดรักษาและป้องกันโรคในช่องปากอย่างมีเหตุมีผลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์มีศักยภาพการบำบัดรักษาและป้องกันโรคในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสามารถแสวงหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย แก้ไขปัญหาของประเทศ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษาที่ผสมผสานการศึกษาทางคลินิก วิทยาการระบาดและวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปากในลักษณะบูรณาการ และก่อให้เกิดงานวิจัยที่ให้ผลลัพธ์ต่อการปฏิบัติงานของทันตแพทย์ในสายงานต่างๆ ซึ่งได้แก่ การดูแลผู้ป่วยในคลินิกทันตกรรมป้องกันระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชน ตลอดจนการพัฒนาความรู้ความสามารถสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น

โครงการนี้เป็นความร่วมมือในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยของ คณะทันตแพทยศาสตร์ กับคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย อาทิ เช่น คณะสหเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเป็นการศึกษาภาคปกติในระบบทวิภาคและจัดวิชาการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์

เริ่มเปิดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ซึ่งประกอบไปด้วยการเรียนภาคทฤษฏี จำนวน 16 หน่วยกิต และภาคปฏิบัติ จำนวน 20 หน่วยกิต ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาและขยายโอกาสในการประกอบอาชีพในงานเกี่ยวกับสาธารณสุขให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านทันตกรรม นอกจากนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานร่วมกับนักศึกษาทันตแพทย์แล้ว นักศึกษายังได้ฝึกประสบการณ์โดยการฝึกปฏิบัติงานในคลินิกพิเศษ

ใกล้เคียง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง