ประวัติ ของ คณะนิติศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2476 กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า นิติศึกษา ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และมีผลประจักษ์ว่าได้บรรลุถึงขีดวิชาขั้นมหาวิทยาลัยในอารยประเทศแล้ว เป็นการสมควรที่จะบำรุงต่อไปในทำนองมหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานระเบียบการศึกษานิติศาสตร์เข้ากับมหาวิทยาลัยเป็นคณะวิชาคณะหนึ่ง และได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476[3] จัดตั้งคณะขึ้นมีชื่อเรียกว่า คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476 หลังจากได้จัดให้มีการเรียนการสอนเพียง 8 เดือน ได้มีประกาศใช้ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476" ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปไปสังกัดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นอันสิ้นสภาพลงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในเวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในคณะรัฐศาสตร์โดยพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งแผนกวิชาในคณะต่าง ๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2494 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2494 จึงเป็นอันว่าวิชากฎหมายได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 แผนกวิชานิติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตร และเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในแผนกวิชานิติศาสตร์โดยตรง การเรียนการสอนในขณะนั้นก็แยกออกจากแผนกวิชารัฐศาสตร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่าการเรียนการสอนในแผนกวิชานิติศาสตร์ในยุคหลังได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา การศึกษาวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเปิดภาคสมทบขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่จะเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ จึงได้เปิดการสอนภาคสมทบขึ้นในปีการศึกษา 2508

ต่อมาทางมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ และได้เริ่มทำการสอนจนถึงขั้นปริญญาโท ตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 เป็นต้นมา สมควรที่จะยกฐานะแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ เพื่อให้การบริหารดำเนินไปได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับเหตุผลสำคัญ คือ ในต่างประเทศถือว่าการศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะต้องมีคณะนิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะสำคัญของมหาวิทยาลัย ในที่สุด ได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 เป็นอันว่าคณะนิติศาสตร์ได้รับการจัดตั้งเป็นคณะที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และเมื่อ พ.ศ. 2538 นี้ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 เพื่อใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนัยนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันจึงจัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 และถือเอาวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสถาปนาคณะนับถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท (เยื้องกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ในพื้นที่บริเวณเดียวกับคณะนิเทศศาสตร์โดยมีอาคารทำการของคณะสองอาคาร คือ อาคารเทพทวาราวดี เป็นอาคารที่ทำการ นอกจากนี้ยังมี อาคารพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นอาคารเรียนส่วนกลาง ใช้ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์

อนึ่ง นามอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้ใช้เป็นนามอาคาร ด้วย "พินิตประชานาถ" เป็นพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วน "เทพทวาราวดี" เป็นพระนามกรมของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

การก่อสร้างอาคารเทพทวาราวดีนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงาน "ฬ จุฬาฯ หน้าเดิน" เพื่อหาเงินสมทบทุน ตกแต่งอาคารคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2543

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหารคณะเฝ้ารับพระราชทานทุนประเดิมจัดสร้าง "ห้องระบบสืบค้นข้อมูล เพชรรัตน" ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องสมุดกฎหมายที่มีความครบครันและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาทอดพระเนตรกิจการของคณะนิติศาสตร์และห้องระบบสืบค้นข้อมูลในพระนามของพระองค์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 อีกด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารพินิตประชานาถ และอาคารเทพทวาราวดี ในวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 87 ปี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547

ใกล้เคียง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น คณะนิติราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะนิติศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.acc.chula.ac.th/admission http://www.law.chula.ac.th/ http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/index.php?option=com_co... http://www.law.chula.ac.th/llm/