ประวัติ ของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ขวา)
  • พ.ศ. 2478 วิชาการบัญชีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ และมีหลวงดำริอิศรานุวรรตน์เป็นผู้สอน ในสมัยนั้นการบัญชียังไม่แพร่หลาย ยังมิได้มีการบันทึกบัญชีเป็นกิจจะลักษณะ ผู้มีความรู้ทางบัญชีจริง ๆ มีน้อยมากเพียง 3-4 คนเท่านั้น และหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้มีบทบาทในการก่อตั้ง และพัฒนาวิชาการบัญชี ซึ่งก็คือ หลวงดำริอิศรานุวรรตน์ โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มีกฎหมายรับรองการจัดตั้งสภาบัญชีขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิชาชีพสอบบัญชี และเพื่อเป็นองค์การให้รัฐบาลในการดำเนินการทดสอบความชำนาญงานทางบัญชี เพื่อออกประกาศนียบัตรวิชาชีพรับรองว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการบัญชีดีพอ ที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอิสระได้
  • พ.ศ. 2481 เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะจัดตั้งสภาบัญชี เนื่องจากมีผู้ที่มีความรู้ทางบัญชีน้อยมาก จึงเห็นว่าควรจะส่งเสริมในการให้วิชาความรู้ทางการบัญชี เพื่อให้แพร่หลายดังนั้นหลวงดำริอิศรานุวรรตน์ จึงได้ขอให้รัฐบาลรับนโยบายอนุมัติ ให้มีการศึกษาวิชาการบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยระยะแรกได้ก่อตั้ง "แผนกวิชาการบัญชี" เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2481 วิชาการบัญชีที่เปิดสอนแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ หลักสูตร 3 ปี และหลักสูตร 5 ปี ผู้ที่สำเร็จการศึกษาปีที่ 3 จะได้รับประกาศนียบัตรทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาตรี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปีที่ 5 จะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีเทียบเท่าปริญญาโท
  • พ.ศ. 2492 หลังจากแผนกวิชาได้ดำเนินการสอนมา 10 ปี ก็ได้รับการสถาปนาเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 และมีการเพิ่มแผนกพาณิชยศาสตร์เข้าไปด้วยอีกแผนกนึง โดย ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคนแรกของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492
  • พ.ศ. 2499 ได้ยกเลิกการศึกษาแบบประกาศนียบัตร แล้วจัดหลักสูตรการศึกษาใหม่เป็นแบบปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี และเปิดสอนระดับปริญญาโทภาคกลางวัน
  • พ.ศ. 2505 แผนกพาณิชยศาสตร์ในระดับปริญญาตรีได้แบ่งออกเป็น 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาการบริหารการเงินและการธนาคาร, สาขาการตลาด, สาขาการบริหารทั่วไป
  • พ.ศ. 2513 เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสากล ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากการศึกษาในระบบเดิมมาเป็นระบบหน่วยกิตพร้อมทั้งได้มีการแบ่งหลักสูตรออกเป็นวิชาเอก 4 สาขาวิชาได้แก่ สาขาการบัญชี, สาขาการบริหารการเงินและการธนาคาร, สาขาการตลาด, สาขาการบริหารทั่วไป
  • พ.ศ. 2518 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีของคณะฯ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของคณะฯ ซึ่งมีการแบ่งสาขาวิชาเอกออกเป็น 5 สาขาวิชาดังนี้ สาขาการบัญชี, สาขาการบริหารการเงินและการธนาคาร, สาขาการตลาด, สาขาเทคนิคการบริหาร, สาขาการบริหารบุคคล
  • พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนชื่อสาขา จากสาขาเทคนิคการบริหารเป็นสาขาบริหารอุตสาหการ
  • พ.ศ. 2525 เปิดโครงการพัฒนาผู้บริหาร (Executive Development Programme – Mini MBA) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2526 ได้เพิ่ม สาขาการพาณิชยนาวีขึ้นมาอีก 1 สาขาวิชาเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนธุรกิจพาณิชยนาวี
  • พ.ศ. 2528 เปิดโครงการ Executive MBA เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2531 เปิดโครงการ MIM ซึ่งเป็น International Programme ทางการตลาดแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2533 คณะฯ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตร พ.ศ. 2526 จากหลักสูตรการบัญชีบัณฑิตและพาณิชยศาสตร์ เป็นหลักสูตร ฉบับ พ.ศ. 2533 หลักสูตรบัญชีบัณฑิตและบริหารธุรกิจบัณฑิต และเปลี่ยนชื่อปริญญาด้านพาณิชยศาสตรบัณฑิต (พณ.บ) เป็นบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สำหรับปริญญาด้านการบัญชีเหมือนเดิม คือ บัญชีบัณฑิต (บช.บ.) โดยหลักสูตร พ.ศ. 2533 ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 6 สาขาวิชาเอก เช่นเดียวกับ พ.ศ. 2526 แต่มีการปรับเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาในหลักสูตรบริหารธุรกิจ 2 สาขาวิชา คือ สาขาการบัญชี, สาขาการบริหารการเงินและการธนาคาร, สาขาการตลาด, สาขาการบริหารอุตสาหการ, สาขาการการบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์การ(เดิมชื่อสาขาการบริหารบุคคล), สาขาการบริหารการขนส่งระหว่างประเทศ(เดิมชื่อสาขาวิชาการพาณิชยนาวี)และในปีเดียวกันนี้เอง คณะฯ ได้เพิ่ม สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ในแผนกบริหารธุรกิจขึ้นมาอีก อีกทั้งยังได้เปิดหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจกิจและการบัญชีหลักสูตรนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ที่รู้จักในชื่อของ BBA TU โดยศึกษาที่ศูนย์ท่าพระจันทร์
  • พ.ศ. 2535 คณะฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดตั้งโครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกร่วม สาขาบริหารธุรกิจ (The Joint Doctoral Program in Business Administration)
  • พ.ศ. 2540 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตร ฉบับปี พ.ศ. 2533 เป็นหลักสูตรฉบับ พ.ศ. 2540 ในหลักสูตรยังคงกำหนดให้มี 7 สาขาวิชา เช่นเดียวกับหลักสูตร พ.ศ. 2533 แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนสาขาวิชา 2 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร เป็น สาขาวิชาการเงิน, สาขาวิชาบริหารอุตสาหการ เป็น สาขาบริหารอุตสาหกรรมและปฏิบัติการ นอกนั้นยังคงใช้ชื่อเดิม คือ สาขาการบัญชี, สาขาการตลาด, สาขาการการบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์การ, สาขาการบริหารการขนส่งระหว่างประเทศ, สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
  • พ.ศ. 2540 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้เริ่มวิธีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ภาคภาษาไทย ซึ่งจะเป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2540 นอกเหนือจากวิธีการคัดเลือกเดิมซึ่งดำเนินการโดยทบวงมหาวิทยาลัย โครงการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าตรง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความถนัด และความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างแท้จริงต่อมารู้จักกันในชื่อของ SMART-I
  • พ.ศ. 2541 คณะฯ ได้เปิดสอนวิชาเพิ่มในระดับปริญญาโท คือ ปริญญาโททางวิชาชีพการบัญชี (Master in Professional Accounting) และเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกหลักสูตรแรกของคณะฯ คือ ปริญญาเอก สาขาการตลาด(ภาคภาษาอังกฤษ)
  • พ.ศ. 2543 คณะฯ ได้เปิดสาขาวิชาเพิ่มใหม่ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • พ.ศ. 2547 คณะฯ ได้รับอนุมัติให้บรรจุหลักสูตรระดับปริญญาตรี 2 สาขาวิชาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 9 ได้แก่ หลักสูตรวิชาธุรกิจระหว่างประเทศและหลักสูตรสาขาวิชาการบริหารโลจิสติกส์ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อสาขาวิชา 1 สาขาวิชาคือ สาขาการบริหารการขนส่งระหว่างประเทศ เป็น สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง
  • พ.ศ. 2549 ได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรควบบัญชีบัณฑิตและบัญชีมหาบัณฑิต (บูรณาการ) และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตควบวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการแบบบูรณาการ) โดยจัดการเรียนการสอน ชั้นปีที่ 1-5 ที่ท่าพระจันทร์ สำหรับหลักสูตรภาษาไทย คณะฯ ได้จัดการเรียนการสอนในภาค 1/2549 ที่ศูนย์รังสิต โดยคณะฯ ได้ปรับปรุงกายภาพ อาคารเรียนของคณะฯ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นอาคาร 9 ชั้น มีพื้นที่รวม 6,900 ศูนย์รังสิต โดยใช้งบประมาณในการปรับปรุง 53,553,619.67 ล้านบาท ในปีเดียวกันนี้ คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2550 ในโครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร (XMBA)
  • พ.ศ. 2551 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอกทางการตลาด (Doctoral Program in Marketing) ซึ่งดำเนินการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ให้มีความกว้างขวางครอบคลุมทางด้านการบริหารธุรกิจครบทุกแขนง เป็นหลักสูตรปริญญาเอกทางธุรกิจ (Doctoral Program in Business: DPB)
  • พ.ศ. 2552 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี ฉบับปี พ.ศ. 2547 เป็นหลักสูตรฉบับ พ.ศ. 2552 ในหลักสูตรยังคงกำหนดให้มี 8 สาขาวิชา แต่ได้ปรับลดจำนวนหน่วยกิตลง และได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อสาขาวิชา 1 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาสาขาบริหารอุตสาหกรรมและปฏิบัติการ เป็น สาขาบริหารการปฏิบัติการ
  • พ.ศ. 2554 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอกร่วมเดิม (JDBA) ที่เป็นความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นโครงการปริญญาเอกบริหารธุรกิจ (Doctor of Business Administration: DBA)

ใกล้เคียง

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะราษฎร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์