ประวัติ ของ คณะรัฐศาสตร์_มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คณะรัฐศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมา 38 ปี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอนวิชารัฐศาสตร์แห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ และในปัจจุบันคณะรัฐศาสตร์ยังเป็นคณะที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

เดิมรัฐศาสตร์มีฐานะเป็นเพียงวิชาโทและสนับสนุนวิชาของเอกพัฒนาสังคมและเอกภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้พิมพ์เอกสารหลักสูตร เปิดรับนักศึกษาใหม่ผิดพลาด โดยระบุว่ามีวิชาเอกรัฐศาสตร์อยู่ด้วย จึงมีนักศึกษาจำนวน 34 คนเรียนวิชาเอกนี้ พอเข้ามาศึกษาแล้ว ช่วงเทอม 2 ปรากฏว่า อาจารย์นิภา ไชยเศวต แจ้งว่ายังไม่ได้ขอหลักสูตรเปิดเป็นวิชาเอกรัฐศาสตร์ นักศึกษาทั้ง 34 คน จึงส่งรายชื่อถึง อ.มาเนาะ ยูเด็น เพื่อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว เดือนมกราคม พ.ศ. 2523 ขีดเส้นตายให้นักศึกษาจำเป็นต้องเลือกวิชาเอก โดยได้รับการกดดันจากฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย และอาจารย์บางท่านในคณะด้วย จึงทำให้เหลือผู้ตั้งใจจริงเพียง 7 คน ปลายปี พ.ศ. 2524 หลังจากที่เข้าไปเจรจาทั้งกับทางคณะ และมหาวิทยาลัย ร่วมประชุมกันหลายหน โดยมีอาจารย์ที่ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และเต็มใจ คือ อาจารย์ กวี ศิริธรรม (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) อาจารย์พีรยศ ราฮิมมูลา อาจารย์มาเนาะ ยูเด็น และอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น โดย อาจารย์ พีรยศ ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเดินทางไปเสนอหลักสูตร ที่ทบวงมหาวิทยาลัย ยกฐานะของรัฐศาสตร์ให้เป็นวิชาเอก โดยแบ่งรัฐศาสตร์ เป็น 2 แผน คือ แผน ก. รัฐศาสตร์ทั่วไป และแผน ข. รัฐศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่พิเศษ รัฐศาสตร์ของปัตตานีจึงควรมีอะไรที่พิเศษด้วย ทางทบวงมหาวิทยาลัย จึงยอมรับหลักสูตรดังกล่าว และได้รับการอนุมัติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาและได้มีการปรับปรุงหลักสูตรดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2537

ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์เป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 279 (3/2548) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 เพื่อให้เป็นคณะที่เชื่อมโยงการปกครองกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต ทำการวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยเน้นการเรียนการสอนสาขาวิชาการปกครอง นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และสอดคล้องกับสภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้ตัดโอนอัตราอาจารย์จำนวน 6 อัตรา จากแผนกวิชาเอกรัฐศาสตร์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 และในภาคการศึกษา 1/2549 ได้ตัดโอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกรัฐศาสตร์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชารัฐศาสตร์ จำนวน 94 คน มาสังกัดคณะรัฐศาสตร์

ใกล้เคียง

คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 59 คณะรัฐมนตรีไทย คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 56 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 54 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย